น.ส.อธิวีณ์ แดงกนิษฏ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยสถานการณ์ยางพาราโลกว่า ขณะนี้ World bank & OECD GDP Projections in 2002 ประกาศค่า PMI ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงเดือน ก.ค. 65 อยู่ที่ 52.20 ประเทศจีน 49.00 ประเทศญี่ปุ่น 52.10 และยุโรป อยู่ที่ 49.80 เนื่องจากความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงมาตรการ Zero Covid ของจีน และความขัดแย้งระหว่างไต้หวัน จีน และสหรัฐ
ในขณะที่ปริมาณการผลิตและการใช้ยางธรรมชาติของโลก ANRPC วิเคราะห์ว่า ในปี 65 ปริมาณผลผลิตอยู่ที่ 14.420 ล้านตัน และปริมาณการใช้ยางอยู่ที่ 15.204 ล้านตัน และคาดว่าการดำเนินนโยบายลดภาษีรถใหม่ของจีน ทำให้ยอดขายรถเพิ่มขึ้น 24% ขณะเดียวกัน ความมุ่งมั่นในการลดคาร์บอนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้การผลิตรถ EV เพิ่มขึ้น โดย ANRPC คาดว่าความต้องการยางจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4%
ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ปรับลดคาดการณ์ผลผลิตยางลง 1% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี ซึ่งเมื่อคิดผลผลิตยางเป็นเนื้อยางแห้งเท่ากับ 4.799 ล้านตัน เนื่องจากการปรับเปลี่ยนจากการปลูกยางไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน และปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น เพราะปีนี้ยังอยู่ในภาวะลานินญ่า และในช่วงของเดือนส.ค.-ก.ย. เป็นช่วงที่เกิดฝนตกชุก
ดังนั้น เกษตรกรต้องระวังเรื่องน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ อีสานและตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางสำคัญ และคาดว่าการส่งออกจะอยู่ที่ 4.275 ล้านตัน โดยการส่งออกในช่วงของปลายปี ยังอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน
น.ส.อธิวีณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอุตสาหกรรมที่ยังใช้ยางเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมยางล้อ ในช่วงไตรมาส 1/65 สหรัฐมีมูลค่าการนำเข้ายางยานพาหนะเพิ่มขึ้น 31% ในส่วนของแนวโน้มยางพารา จากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น อาทิ การท่องเที่ยว การเดินทาง และการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งเส้นด้ายยางยืด หรือล้อรถยนต์ คาดว่ามีโอกาสที่ขยายตัวมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังราคายางอย่างใกล้ชิด ซึ่ง กยท. มีมาตรการต่างๆ ที่จะเข้ามาดูแล ทั้งเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง โดยมีโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางโครงการชะลอยาง โครงการสินเชื่อผู้ประกอบกิจการยางแห้ง โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง
ด้าน นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ยางพาราในไตรมาส 3 และ 4 ยังคงเป็นไปตามกลไกปกติ ซึ่งในปีนี้อาจเกิดปัจจัยจากภายนอกประเทศ เช่น เรื่องสงคราม หรือปัญหาขัดแย้งต่างๆ ดังนั้น จากนี้การสื่อสารเรื่องสถานการณ์ราคายางจะเป็นไปในแบบระยะสั้น ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
“ขอฝากถึงเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ขอความร่วมมือเข้าร่วมทำแบบสอบถามเรื่องโรคใบร่วงชนิดใหม่ ผ่านแอปพลิเคชัน ‘Rubbee’ เพื่อนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการเรื่องโรคใบร่วง หากพบการเกิดโรคให้รีบแจ้งข้อมูลให้ กยท. ในพื้นที่ทราบ เพราะในเรื่องนี้เป็นนโยบายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่ง กยท. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามและดำเนินการในการหาแนวทางในการป้องกันการเกิดโรคอย่างต่อเนื่อง” นายณกรณ์ กล่าว
ผู้ว่าฯ กยท. กล่าวถึงโครงการ Natural Rubber Startup Acceleration Program: Batch 2 by RAOT and PSU ที่ กยท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการนำแนวคิดบวกกับนวัตกรรมและเงินทุนว่า ช่วยทำให้เกิดธุรกิจใหม่ พัฒนาผลิตภัณฑ์การวิจัยต่างๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเจรจาซื้อขาย การค้า ทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มมูลค่าสินค้า โดยมีแนวทางการคิดค้นนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์เพื่อสัตว์เลี้ยงปศุสัตว์ สิ่งแวดล้อม ลดขยะโดยการนำกลับมาใช้ใหม่ ลดการใช้พลังงาน เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการเลือก ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มนวัตกรรมเพื่อสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์และการเกษตร เช่น รองเท้าโคจากยางพารา เพื่อลดปัญหาด้านสุขภาพของโค ลดอาการบาดเจ็บได้, ที่ลับเล็บแมวจากวัสดุ TPNR และไม้ยางพารา ผลิตจากวัสดุมีความทนทานมากขึ้นจากเดิมที่มักจะใช้กระดาษลูกฟูก พร้อมทั้งมีการเพิ่มกลิ่นจาก Catnip หรือกัญชาแมว ให้แมวรู้สึกผ่อนคลาย และหนังเทียมวัสดุทางการเกษตรและยางพารา สร้างมูลค่าของสินค้าเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีทำให้เกิดวัสดุใหม่
2. กลุ่มนวัตกรรมเพื่อลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซพิษ เพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น ทุ่นลอยน้ำ ที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย ออกแบบให้ต่อเหมือนจิ๊กซอว์ โดยสามารถวางแผงโซล่าเซลล์ลอยน้ำได้ หรือใช้เป็นกระชังเลี้ยงสัตว์ แพลอยน้ำ บ้านน็อคดาวน์ได้, ทุ่นกักขยะและทุ่นกักน้ำมันยางพารา นำยางพารามาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นทุ่นลอยน้ำ ใช้กักขยะและกักน้ำมันทดแทนโฟม ซึ่งมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าโฟมธรรมดา ทนทานต่อน้ำมัน และไม่ปล่อยสารที่เป็นพิษต่อแหล่งน้ำ
นอกจากนี้ ยังมีปุ๋ยอินทรีย์เคลือบยางพารา ในรูปแบบอัดเม็ดที่เคลือบผิวด้วยกาวยางพาราสูตรพิเศษ ช่วยควบคุมการปลดปล่อยปุ๋ยให้ออกมาช้าๆ ร่วมกับการปลดปล่อยเชื้อจุลินทรีย์ไตรโคเดอร์มา ทำให้พืชแข็งแรง พร้อมทั้งลดมลพิษในอากาศ และปุ๋ยมูลจิ้งหรีดเคลือบยางพารา เป็นผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบของมูลจิ้งหรีด 70% น้ำยาง 30% เป็นการนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งการเคลือบด้วยยางธรรมชาติ จะทำให้ปุ๋ยละลายช้าขึ้นเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืช
3. กลุ่มนวัตกรรม Upcycle เพื่อลดขยะและการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการทำหวายเทียมยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ส.ค. 65)
Tags: กยท., การยางแห่งประเทศไทย, ณกรณ์ ตรรกวิรพัท, ยางพารา, อธิวีณ์ แดงกนิษฏ์