นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง (CIVIL) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3/65 บริษัทมุ่งเน้นบริหารโครงการก่อสร้างในมืออย่างมีประสิทธิภาพและส่งมอบงานได้ตามแผน ควบคู่ไปกับการปรับกลยุทธ์จัดการต้นทุน อาทิ เหล็ก คอนกรีต น้ำมัน รวมถึงแรงงานก่อสร้าง ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติที่ส่งผลโดยตรงกับราคาต้นทุนวัสดุและการดำเนินงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนในการเข้าประมูลงานภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่กำลังจะเปิดการประมูล อาทิ งานก่อสร้างทางหลวงและทางพิเศษ, งานเขื่อนและระบบน้ำ, งานก่อสร้างและปรับปรุงสนามบิน, งานก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง มูลค่ารวมกว่า 17,000 ล้านบาท
“แม้ธุรกิจก่อสร้างต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติซ้อนวิกฤติมากมาย ทั้งภาวะสงคราม การขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนวัสดุก่อสร้างผันผวน ภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงค่าแรงก่อสร้างที่มีแนวโน้มปรับตัว ซึ่งถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงรักษาการบริหารโครงการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรวดเร็ว ส่งมอบงานได้ตามกรอบระยะเวลา มีความคุ้มค่า โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก มุ่งมั่นพัฒนาการบริหารโครงการและจัดการวัสดุก่อสร้าง อีกทั้งมีการเตรียมแผนเข้าประมูลงานโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถสร้างการเติบโตของรายได้ตามเป้าหมายที่ 20% หรือ 6,000-6,500 ล้านบาท” นายปิยะดิษฐ์ กล่าว
ด้านผลประกอบการไตรมาส 2/65 บริษัทมีรายได้รวม 1,561 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,223 ล้านบาท จำนวน 338 ล้านบาท หรือ 28% และ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 30 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 44 ล้านบาท
ขณะที่ผลประกอบการครึ่งปีแรก 2565 บริษัทมีรายได้รวม 3,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,410 ล้านบาท จำนวน 801 ล้านบาท หรือ 33% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 71 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 113 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นจากความคืบหน้าของงานโครงการประเภทงานก่อสร้างทางรถไฟและทางรถไฟความเร็วสูงซึ่งในครึ่งปีแรกของปี 65 มีสัดส่วน 51% ขณะที่งานทางมีสัดส่วน 31%
ส่วนกำไรสุทธิปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจัยราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการขยายระยะเวลาดำเนินงานก่อสร้าง ส่งผลให้บริษัทมีการปรับประมาณการราคาต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาเหล็ก คอนกรีต และ น้ำมัน ที่ยังคงส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมก่อสร้างในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีอัตรากำไรที่ดีเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ส.ค. 65)