เมย์แบงก์ฯชี้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกระทบต้นทุนภาคธุรกิจแต่จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อ

บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงแรงงานเตรียมพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อ โดยจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในช่วงเดือน ก.ย. และคาดว่าจะผ่านมติและบังคับใช้ให้ได้ในช่วงประมาณเดือนต.ค. เพื่อบรรเทาผลกระทบจากค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี ส่งผลทำให้ค่าแรงเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ในช่วงประมาณ 330-350 บาท ต่อวัน จากฐานเดิม โดยพิจารณาตามสภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของแต่ละจังหวัด

ผลจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ น่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานไม่มีฝีมือ (Unskilled Labor) ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่จะถูกปรับขึ้นค่าแรง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 42.4% (อ้างอิงจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ก่อสร้าง และ ภาคบริการ

อย่างไรก็ตามประเมินผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในภาพรวม และ กำไรบริษัทจดทะเบียน แบบเป็นกลาง (Neutral) เนื่องจาก 1.การปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ จะส่งผลเชิงลบต่อเพียงแค่บางอุตสาหกรรมและธุรกิจ 2. ในเชิงเปรียบเทียบ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้มีอัตราการปรับขึ้นต่ำกว่าครั้งปี 56 (ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ทั่วประเทศ) อย่างมีนัยสำคัญ 3. ภาคธุรกิจปรับตัวรองรับกับภาวะต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น อันเนื่องมาจากราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ มาแล้วระยะหนึ่ง (อาทิเช่น ปรับขึ้นราคาขาย ใช้นโยบายลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น) 4. อานิสงส์บวกจากกำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นปัจจัยบวกต่อการบริโภคของไทย และหนุนให้ภาครัฐเก็บ Vat ได้มากขึ้น

โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม จากกรณีที่มีการปรับค่าแรงขึ้นต่ำขึ้น 10% จะส่งผล ดังนี้

กลุ่มก่อสร้าง โดนผลกระทบเชิงลบมากที่สุด แนวโน้มกำไรในปี 66 จะโดนกระทบประมาณ 3-8% แต่ในขณะเดียวกันความสามารถในการปรับขึ้นราคาขายน่าจะทำได้ต่ำ (ประเมินที่ระดับประมาณ 1 จาก 10 คะแนน)

กลุ่มท่องเที่ยว โดนผลกระทบต่อกำไรมากที่สุดประมาณ 6-55% ในขณะที่ความสามารถในการปรับขึ้นราคาขาย ถือว่าอยู่ในระดับกลาง (ประมาณ 4 จาก 10 คะแนน)

ส่วนกลุ่มอื่นๆ ผลกระทบค่อนข้างจำกัด เช่น กลุ่มการแพทย์ ที่แม้ต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นจะกระทบกำไรประมาณ 2-14% แต่ความสามารถในการปรับเพิ่มราคาขายและบริการน่าจะสามารถทำได้ จากประเภทของสินค้าที่ถือเป็นสินค้าจำเป็น (ระดับคะแนนประมาณ 8 จาก 10) เช่นเดียวกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆที่ส่วนใหญ่พึ่งพาแรงงานที่ได้รับค่าแรงขึ้นต่ำ หรือแรงงานไร้ฝีมือ ในสัดส่วนที่ไม่มาก นอกจากนี้บางกลุ่มอุตสาหกรรม นำโดย ค้าปลีก และการเงิน น่าจะได้ sentiment เชิงบวก จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มความเสี่ยงด้านเครดิตที่ต่ำลงของกลุ่มลูกค้าฐานราก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ส.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top