นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีหากส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมสภาฯและทำให้สภาฯล่ม จะถือว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ว่า เป็นเกมในทางสภาฯ ที่เคยใช้กันมาเสมอ เช่น วอล์คเอาท์หรือทำให้องค์ประชุมไม่ครบ
“ผมคิดว่ายังไม่ถึงขั้นจะบอกว่าผิดจริยธรรม เพราะเป็นอาวุธของสภาฯที่จะใช้ในการคัดค้านสิ่งที่ตนไม่เห็นด้วย เหมือนกับการเดินออกหรือนั่งอยู่แต่ไม่ยอมยกมือ ฉะนั้นเรื่ององค์ประชุมคงจะถือว่าเป็นเรื่องจริยธรรมยาก แม้จะน่าตำหนิก็ตาม”
นายวิษณุ กล่าว
ส่วนการยื่นตีความดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมที่มีการยื่นทางช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายวิษณุ กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ถือเป็นช่องทาง เพราะสุดท้ายต้องยื่นต่อไปที่ กกต. ซึ่งช่องทางมีอยู่ 2 ช่องทางเท่านั้น คือ ส.ส.เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ ส.ว.เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 ตามมาตรา 82 กับอีกช่องทาง คือ กกต.ยื่นตามมาตรา 170 แต่ถ้ายื่นต่อกกต.จะมีน้ำหนัก เพราะจะต้องมีการกลั่นกรองคล้ายกับการไต่สวนมูลฟ้อง ดังนั้น ถ้าผ่านกกต.ถือว่ามีน้ำหนักผ่านไปหนึ่งชั้นแต่จะยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้ แต่ก็จะต้องกลับไปยื่นกกต.อีกอยู่ดี เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นศาลรัฐธรรมนูญเองไม่ได้ ซึ่งขอให้รีบทำเพราะศาลรัฐธรรมนูญจะได้รีบวินิจฉัยเหมือนที่นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเคยบอกไว้
ส่วนกรณีหากเลยวันที่ 23 ส.ค.ไปแล้ว นายกรัฐมนตรียังทำงานต่อจะมีการไปแจ้งความ นายวิษณุ กล่าวว่า สามารถแจ้งได้แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการสั่งให้นายกฯหยุดปฎิบัติหน้าที่ นายกฯ สามารถทำได้หมดทุกอย่างแม้กระทั่งการเซ็นเอกสาร ย้ายข้าราชการ หรือการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ส.ค. 65)
Tags: วิษณุ เครืองาม, ศาลรัฐธรรมนูญ