สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (ASEAN) จำเป็นต้องมีความสมัครสมานสามัคคีเพื่อรับมือความท้าทายสำคัญหลายประการ เพื่อประโยชน์ของสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับภูมิภาค
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันอาเซียน สมเด็จฮุนเซน ซึ่งเป็นประธานอาเซียนประจำปี 2565 กล่าวว่า กัมพูชามุ่งมั่นสนับสนุนและส่งเสริมความเป็นศูนย์กลาง ความสามัคคี และความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน เพื่อรับมือกับความท้าทายร่วมกันในระดับภูมิภาค และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของอาเซียนเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
“อาเซียนต้องสามัคคีเพื่อความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเราจะมุ่งเน้นการดำเนินงานที่ส่งเสริมให้ภูมิภาคเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น” สมเด็จฮุนเซนกล่าว
สมเด็จฮุนเซนกล่าวว่า อาเซียนไม่สามารถรับประกันการไม่มีสงครามและความขัดแย้งได้ ทว่าอย่างน้อยอาเซียนได้ทำหน้าที่เป็นเวทีเปิดสำหรับการเจรจาและปรึกษาหารือที่สร้างสรรค์ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนอย่างมหาศาลในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
สมเด็จฮุนเซนระบุว่า ระหว่างการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นมานานกว่า 2 ปี อาเซียนสามารถเอาชนะวิกฤตระดับโลกและป้องกันผลกระทบต่อสาธารณสุข สังคม เศรษฐกิจ และชีวิตประจำวันของประชาชนครั้งนี้ได้
ขณะเดียวกันสมเด็จฮุนเซนเสริมว่า อาเซียนได้คิดค้นแผนริเริ่มมากมายเพื่อควบคุมผลกระทบของวิกฤตสุขภาพนี้ โดยปรับใช้กรอบการฟื้นตัวที่ครอบคลุมของอาเซียนในวงกว้าง เพื่อปกป้องชีวิตของผู้คนและรักษาเสถียรภาพทางสังคมตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
สมเด็จฮุนเซนทิ้งท้ายว่า เราสามารถพูดได้ว่า ขณะนี้อาเซียนกำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว และเชื่อว่าอาเซียนสามารถก้าวไปข้างหน้าด้วยความแข็งแกร่ง ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และมิตรภาพ เพื่อเอาชนะความท้าทายทั้งหมดที่กำลังเผชิญอยู่ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับจิตวิญญาณหลักของอาเซียนนั่นคือ “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม”
ทั้งนี้ อาเซียนก่อตั้งขึ้นในปี 2510 ประกอบด้วยบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ส.ค. 65)
Tags: XINHUA, กัมพูชา, อาเซียน, ฮุนเซน