นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนยุคหลังโควิด-19 มีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวก และยังโดดเด่นกับตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ที่มีสัดส่วนประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมากจึงช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการขยายตัวของดิจิทัลไลฟ์สไตล์ที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ธนาคารจึงเดินหน้าขยายบริการในภูมิภาคเพื่อเชื่อมต่อโอกาสให้แก่ธุรกิจไทย และส่งมอบบริการให้แก่ลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการในประเทศท้องถิ่น เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและสินเชื่อได้สะดวกและครอบคลุมความต้องการในทุกพื้นที่
สำหรับแผนธุรกิจธนาคารในภูมิภาค 3 ปีต่อจากนี้ ธนาคารจะเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เสริมทัพทีมงาน การลงทุนในสตาร์ทอัพ และเข้าซื้อกิจการ ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ โดยใช้งบลงทุน 2.7 พันล้านบาท เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจที่ผสานด้วยดีเอ็นเอแห่งชาเลนเจอร์แบงก์ ส่งมอบบริการบนดิจิทัลสู่ผู้ใช้งานในท้องถิ่นได้อย่างคล่องตัวสูง ซึ่งจะทำให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3
นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารได้รับอนุมัติใบอนุญาตเป็นธนาคารต่างชาติในประเทศเวียดนามในช่วงปลายปีก่อน และเริ่มรุกการทำธุรกิจด้านการเงินในประเทศเวียดนามอย่างจริงจังในปี 65 โดยธนาคารถือเป็นธนาคารต่างชาติแห่งแรกที่นำบริการด้านดิจิทัล โปรดักส์ และโซลูชั่น อย่างเต็มรูปแบบมาให้บริการแก่ลูกค้าทุกกลุ่มในประเทศเวียดนาม
โดยเวียดนามเป็นประเทศแรกที่ธนาคารใช้ 3 กลยุทธ์ ในการขับเคลื่อนธุรกิจในประเทศเวียดนาม ได้แก่ 1. การรุกตลาดอย่างเร็วและแรง โดยการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ และผู้ประกอบการต่างๆที่ต้องการสินเชื่อขยายธุรกิจ ซึ่งจะเข้ามาเป็นรายได้หลักในการสร้างรายได้หล่อเลี้ยงการดำเนินงานของสาขาในเวียดนาม 2. การดึงลูกค้าดีๆจากพันธมิตรของธนาคารเข้ามาเป็นลูกค้าของธนาคาร และ 3. การลงทุนต่อยอดในธุรกิจด้านดิจิทัล และธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีความน่าสนใจ ซึ่งเน้นเทคโนโลยีในด้านสุขภาพ การศึกษา และ ESG เป็นต้น
สำหรับเป้าหมายของธนาคารกสิกรไทย ในเวียดนาม ตั้งเป้าหมายเพิ่มฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 1.2 ล้านราย ในปี 66 โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อรวมในเวียดนามเพิ่มขึ้นมาที่ 2.2 หมื่นล้านบาท พร้อมกับการขยายฐานกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่น K+ ในเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการ K+ อยู่ที่เกือบ 1 แสนราย และการเดินหน้าปล่อยสินเชื่อออนไลน์ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งตั้งเป้าปล่อยในปี 66 อยู่ที่ 100 ล้านบาท อีกทั้งยังมีการให้บริการด้านการรับชำระเงินผ่านเครื่อง EDC ซึ่งเพิ่งเริ่มมาติดตั้งในร้านค้าพันธมิตรที่ประเทศเวียดนามในช่วงเดือนส.ค.นี้
สำหรับประเทศเวียดนามถือเป็นหนึ่งประเทศ ที่มีการเติบโตสูงสุดในอาเซียนและเป็นประเทศที่มีศักยภาพดึงดูดเงินลงทุนจากทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น เวียดนามมีนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมเป้าหมายในการเป็น “ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี” แห่งใหม่ของเอเชีย ในขณะที่เวียดนามมีประชากรกว่า100ล้านคน ที่มีอายุค่อนข้างน้อย และพบว่าประชากรเวียดนามมากกว่า 50% ซื้อสินค้าออนไลน์
โดยธนาคารจับกลุ่มลูกค้าในประเทศเวียดนามทั้งกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นและต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม รวมถึงธุรกิจเทรดดิ้ง ธุรกิจบริการ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจอุตสาหกรรม และลูกค้าบุคคลและธุรกิจขนาดเล็ก โดยผ่านเงินฝาก สินเชื่อบุคคล และระบบการรับชำระเงิน ด้วยการนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีของธนาคารในฐานะผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้งและโมบายแบงกิ้งของไทย ไปช่วยต่อยอดการพัฒนาบริการให้แก่ลูกค้าในเวียดนาม ทั้งการใช้ K PLUS Vietnam ที่เป็นแกนหลักในการสร้าง Digital Lifestyle Ecosystem ให้แก่ลูกค้าบุคคล เพื่อให้ครอบคลุมลูกค้าได้ทั่วประเทศมากขึ้น รวมถึงการรุกสินเชื่อดิจิทัล โดยเริ่มจาก KBank Biz Loan ที่ให้สินเชื่อแก่ร้านค้าขนาดเล็ก โดยเน้นการเข้าถึงลูกค้าผ่านทางพันธมิตรและแพลตฟอร์มท้องถิ่น ผ่านการลงทุนของ KASIKORN VISION ซึ่งเป็นบริษัททำหน้าที่ด้านการลงทุนของธนาคาร และการตั้งKBTG Vietnam เพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีในการให้บริการทั้งในเวียดนามและในภูมิภาค
โดยการเติบโตของธุรกิจในประเทศเวียดนามนั้น คาดว่าจะเห็นรายได้ที่ขยับเข้าใกล้เคียงกับประเทศกัมพูชา ภายในปี 66 จากการเติบโตรวดเร็วของเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศเวียดนามที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะเปิดดำเนินธุรกิจธนาคารท้องถิ่นในเวียดนามไม่ถึง 1 ปี เมี่อเทียบกับกัมพูชาที่เปิดมา 3 ปี แต่ยังไม่สามารถเทียบกับประเทศจีนได้ เพราะประเทศจีนยังเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ และมีการเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งรายได้ในปีนี้ของธุรก้จต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทยที่ 1.4 พันล้านบาท ยังเป็นสัดส่วนของประเทศจีนมากที่สุดที่ 700 ล้านบาท และสัดส่วนรายได้จากธุรกิจต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทยในช่วงครึ่งปีแรกยังอยู่ที่ 2.2% ของรายได้รวม เท่ากับช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา และการที่มีเวียดนามเว้บมาเพิ่มคาดว่บจะทำให้สัดส่วนรายได้จากธุรก้จต่างประเทศในปี 66 เพิ่มเป็น 5%
นอกจากนี้ธนาคารยังมองถึงการขยายตลาดไปยังประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง มีจำนวนประชากรที่มาก รวมถึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆที่ก้าวหน้า และมีความทันสมัย ทำให้เป็นโอกาสในการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่น่าสนใจเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทยในระยะต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ส.ค. 65)
Tags: KBANK, ขัตติยา อินทรวิชัย, ธนาคารกสิกรไทย, พิพิธ เอนกนิธิ, หุ้นแบงก์, หุ้นไทย, เวียดนาม