น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในการเสวนา “1 อาทิตย์ กับ 1 วันกับ Zipmex” ว่า เตรียมใช้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกผู้บริหารบริษัท Zipmex มาเข้าพบ หลังไม่ยอมชี้แจงกรณียื่น Moratorium relief ต่อศาลสิงคโปร์
“จนถึงขณะนี้บริษัทฯ ก็ยังไม่มีหนังสือชี้แจงตอบกลับมาตามที่ถามไป หลังจากนี้คงต้องใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเรียกผู้บริหารมาพบ” น.ส.รื่นฤดี กล่าว
เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า นับตั้งแต่รู้ข่าวก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะดูแลทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง โดยได้ดำเนินการตามกระบวนการตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ด้วยการส่งหนังสือขอคำชี้แจงรายละเอียดในประเด็นต่างๆ ถึงบริษัทฯ แต่ยังไม่เคยได้รับคำตอบเลย ทั้งที่บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องชี้แจงลูกค้าที่เป็นนักลงทุนให้เข้าใจตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.65 และต้องแจ้งให้สำนักงาน ก.ล.ต.รับทราบตามกฎเกณฑ์ของผู้รับใบอนุญาต และขอปฏิเสธข่าวว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับผู้บริหารตามที่มีการกล่าวอ้างทางสื่อสังคมออนไลน์
“หากบริษัทฯ มีความจริงใจตามที่ได้ออกสื่อสังคมออนไลน์ต้องออกมาบอกเลยว่าจะช่วยเหลือลูกค้าอย่างไร มีกระบวนการอย่างไร” น.ส.รื่นฤดี กล่าว
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือของ ก.ล.ต.นั้นได้เริ่มรับเรื่องร้องเรียนจากนักลงทุนมาตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.65 ขณะเดียวกันก็ได้บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอส.ตร) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล เพราะกรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอื่น นอกเหนือจากความผิดทางอาญา ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายบริหาร ทั้งคณะกรรมการ ก.ล.ต., ปลัดกระทรวงการคลัง และ รมว.คลัง ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากและกำชับให้ดูแลเป็นอย่างดี ซึ่งตนได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามขั้นตอนๆ ให้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
“การทำงานที่ผ่านมา ก.ล.ต.จะประสานกับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และกำชับให้ปฏิบัติการหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการลงทุน คนที่ได้ใบอนุญาตไปก็ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ หากไม่ทำก็ต้องถูกดำเนินคดี” น.ส.รื่นฤดี กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับการยื่น Moratorium relief ต่อศาลสิงคโปร์ หากมีผลออกมาอย่างไรจะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทในไทยตามหลักดินแดน
นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการฯ สายธุรกิจตัวกลางและตลาด กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาต 15 ราย ซึ่งแนวทางในการพิจารณาจะดู 3 เรื่อง คือ 1.ด้านเงินทุน 2.ด้านบุคลากร และ 3.ด้านระบบการบริหารจัดการ หลังจากได้รับอนุญาตแล้ว ก.ลต.จะมีการติดตามการบริหารงานด้วยการไปตรวจเยี่ยม และให้บริษัทส่งรายงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
นายเอนก อยู่ยืน ผู้ช่วยเลขาธิการฯ สายบังคับใช้กฏหมาย กล่าวว่า สำหรับนักลงทุนที่เป็นลูกค้าของบริษัท Zipmex สามารถร้องเรียนได้ตามสะดวก ทั้งที่สำนักงาน ก.ล.ต.และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอส.ตร) โดยจะมีการบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการดำเนินคดีและช่วยเหลือเยียวยา
“แต่ละบริษัทฯ จะมีหน่วยกำกับดูแลการบริหารงานของตัวเอง ที่ผ่านมาบริษัทฯ ที่ปฏิบัติได้ตามหลักเกณฑ์ก็ไม่ค่อยเกิดความเสียหาย” นายเอนก กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ค. 65)
Tags: Zipmex, ก.ล.ต., ซิปเม็กซ์, สินทรัพย์ดิจิทัล