กมธ.เลือกตั้ง ส.ส.นัดถกหาทางออกสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์คาดได้ข้อยุติเที่ยงนี้

นายสาธิต ปิตุเตชะ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม กมธ.ฯ จะหารือถึงทางออก รวมถึงการแก้ประเด็นที่สอดคล้องกับมติของรัฐสภามาตรา 22 เรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากวิธีหารด้วย 100 เป็นหารด้วย 500 โดยจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอว่า การแก้ไขจะต้องสอดคล้องกับที่ถูกเปลี่ยนมติจากหารด้วย 100 เป็นหารด้วย 500 ที่มีความยากพอสมควร จากเดิมการคิดคำนวณตรงไปตรงมา แต่การหารด้วย 500 จะมีการผสมทั้งคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อและ ส.ส.แบบแบ่งเขต ซึ่งเป็นความยากที่จะต้องแก้ไขตาม

หากมีการเลือกตั้งซ่อมแต่ละครั้งก็จะต้องมีการคำนวณใหม่ทุกครั้ง ขณะที่คำว่าพึงมีก็กลับมาแล้วในการหารด้วย 500 นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกลับมติเสียงข้างมากในรัฐสภา แต่ก็ต้องเคารพมติที่แก้มาแล้วก็ต้องแก้ตามเพื่อไม่เกิดปัญหา แต่ถ้ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ถูกไปใช้จริงก็ต้องกลับมาแก้ใหม่ เมื่อ กกต.ยืนยันว่าไม่เห็นด้วย ก็ต้องกลับมาที่สภาแล้วแก้มาตรา 23-25 ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก ซึ่งส่วนตัวไม่ได้เห็นด้วยเพราะเป็นเสียงข้างน้อย

ส่วนจะมีโอกาสที่จะกลับไปใช้สูตรหารด้วย 100 หรือไม่หลังจากมีข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาลคุยกับนายกรัฐมนตรีหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ นายสาธิต กล่าวว่า อยู่นอกความถี่นั้น แต่เห็นด้วยกับสูตรหารด้วย 100 ตามความเห็น กมธ.เสียงข้างมากเดิม เพราะถูกต้องตามกฏหมายรัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขมาแล้ว ใครจะอยากได้อะไรไม่รู้ แต่หน้าที่ของ กมธ.ควรทำให้เป็นหารด้วย 100 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

สำหรับความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว นายสาธิต กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้นก็รับไม่ได้ และจะคัดค้านคนแรก เพราะแก้รัฐธรรมนูญมาใช้บัตรสองใบแล้ววันนี้ควรจะตัดสินว่า จะใช้สูตรหารด้วย 500 หรือหารด้วย 100 แต่หากแก้แล้วกลับไปที่เดิม คิดว่าเสียเวลาประเทศ เอาเวลาไปทำอย่างอื่นจะดีกว่า

ขณะที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า วันนี้จะได้ข้อสรุปในการแก้ไขอีก 2 มาตราที่เหลืออยู่ให้สอดคล้องกับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบหารด้วย 500 และจะนำส่งให้กับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระในวันที่ 2 ส.ค.65 โดยเชื่อว่า การประชุมร่วมรัฐสภาในสัปดาห์หน้าจะใช้เวลาครึ่งวันก็น่าจะจบโหวตผ่านวาระ 3 ได้

ส่วนกระแสข่าวการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวและหารด้วย 100 นั้น นพ.ระวี กล่าวว่า หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยก็ไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีโอกาสที่จะกลับไปใช้บัตรใบเดียว หากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ส่วนตัวมองว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า หารด้วย 100 หรือหารด้วย 500 ก็ขัดรัฐธรรมนูญ รัฐสภาต้องกลับมาแก้ไข เพราะฉะนั้นอาจถึงขั้นกลับไปแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งก็จะแก้มาตรา 93 เพียงมาตราเดียว เพื่อให้หารด้วย 500 ถูกกฎหมาย หรืออาจจะแก้โดยการตัดมาตรา 93,94 ออก เพื่อให้หารด้วย 100 ถูก หรือแก้ให้กลับเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียวเลย ทุกอย่างเกิดขึ้นได้หมด

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากลุ่มพรรคเล็กสนับสนุนให้หารด้วย 500 เพื่อสกัดเผด็จการรัฐสภา แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าพรรคเล็กได้ผลพลอยได้ คือไม่สูญพันธุ์

ด้าน นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการ กมธ.ฯ กล่าวว่า การประชุมวันนี้จะพิจารณาต่อจากการประชุมเมื่อคืนนี้ว่าจะแก้ไขอย่างไร โดยจะพยายามให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ พร้อมเสนอต่อรัฐสภาช้าสุดในวันที่ 1 ส.ค.65 เพื่อบรรจุวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 2 ส.ค.นี้ พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้ดึงเวลาเพื่อให้ชนะฟาล์ว แม้ตนเองจะไม่เห็นด้วยกับสูตรหารด้วย 500 ก็ตาม ทั้งที่วิธีง่ายๆคือ ดึงเวลาให้เลยวันที่ 15 ส.ค.65 ก็จะต้องกลับไปเป็นสูตรหารด้วย 100 แล้ว แต่ก็จะไม่ทำแบบนั้น เพราะต้องการให้ไปที่ กกต.และไปต่อที่ศาลรัฐธรรมนูญดีกว่า

สำหรับการเสนอให้กลับไปใช้สูตรหารด้วย 100 และบัตรใบเดียว นายนิกร กล่าวว่า เรื่องกลับไปใช้หารด้วย 100 และบัตร 2 ใบเป็นเรื่องที่แก้กันมาโดย 3 พรรคการเมือง คือพรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา โดยพรรคชาติไทยพัฒนาได้พูดคุยกันแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้กลับไปที่เดิม เพราะได้แก้ไขมาแล้วเป็นบัตร 2 ใบ แม้ว่าพรรคชาติไทยพัฒนาจะเสียเปรียบก็ตาม เพราะไม่สามารถตอบประชาชนได้

นายนิกร ยืนยันว่า กมธ.ต้องทำเรื่องนี้ให้จบ เมื่อจบแล้วก็ไปต่อที่ กกต. โดย กกต.ก็จะให้ความเห็นกลับมาว่า ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเชื่อว่า กกต.คงไม่ให้ความเห็นเรื่องนี้เพราะไม่ใช่หน้าที่ แต่อาจจะตอบกลับมาว่า กฎหมายนั้นปฏิบัติได้หรือไม่ ถ้าเป็นแบบนี้ อาจจะแย้งกลับไปเป็นสูตรหารด้วย 100 แต่รัฐสภาจะเห็นด้วยกับ กกต.หรือไม่ ซึ่งหากรัฐสภาเห็นด้วยกับสูตรหารด้วย 500 ที่ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หากรัฐสภาเห็นด้วยกับสูตรหารด้วย 100 ก็จะถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเช่นกัน ก็ต้องทำไปให้สุดทางเพื่อจะได้จบ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top