นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า FTI Poll ครั้งที่ 19 ที่สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร ส.อ.ท.(CEO Survey) จำนวน 209 ราย ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ในเดือน ก.ค.65 ในหัวข้อ “ภาคอุตสาหกรรมจะรับมือกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างไร” หลังจากอัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.65 อยู่ที่ระดับ 7.6% สูงสุดในรอบ 13 ปี และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง รวมทั้งปัจจัยภายนอกจากทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยไปถึงระดับ 3.4% ภายในสิ้นปีนี้ ทำให้มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า เพื่อรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศไม่ให้ห่างกันจนมากเกินไป จนไปกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและค่าเงินบาท
โดยผู้บริหาร ส.อ.ท.เสนอว่า กรณีที่ ธปท.มีความจำเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ควรพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น รวมทั้งควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากบางธุรกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan), การสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้, มาตรการช่วยเหลือทางภาษีทั่วไป เป็นต้น โดย ผู้บริหาร ส.อ.ท.คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ ปี 2566 จะอยู่ที่ระดับ 0.75-1.00% เพื่อที่จะรักษาทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย
สำหรับเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง ผู้บริหาร ส.อ.ท.มองว่า ถึงแม้การอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถด้านราคาในการส่งออกสินค้าไทย แต่อีกมุมหนึ่งก็ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนพลังงาน สินค้าและวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าปรับตัวสูงขึ้นจนกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งภาครัฐควรให้ความสำคัญในการกำกับดูแลการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท และมาตรการป้องปรามหรือจำกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม โดยค่าเงินบาทที่เหมาะสนกับการดำเนินธุรกิจควรอยู่ที่ระดับ 32-34 บาท/ดอลลาร์
นอกจากนี้ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังได้แนะให้ผู้ประกอบการทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินบาทที่อ่อนค่า เช่น การซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) หรือการซื้อสิทธิ์ที่จะซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Option Contract) เป็นต้น
โดยแนวทางหลักที่จะรับมือต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของภาคอุตสาหกรรมนั้น อันดับที่ 1 คือ ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ อันดับที่ 2 เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน และปรับการบริหารกระแสเงินสดใหม่ อันดับที่ 3 ปรับวิธีการบริหารกระแสเงินสด เช่น กู้ระยะยาวแทนการกู้เงินเบิกเกินบัญชี OD อันดับที่ 4 ชะลอการลงทุน 18.7% อันดับที่ 5 เปลี่ยนวิธีการลงทุน เช่น ระดมทุนจากผู้ถือหุ้นในบริษัท และอันดับที่ 6 อื่นๆ
ขณะที่ภาครัฐควรมีมาตรการ/นโยบายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการจากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อันดับที่ 1 ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป อันดับที่ 2 มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) อันดับที่ 3 สนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ และเงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate loan) และอันดับที่ 4 มาตรการช่วยเหลือทางภาษีทั่วไป
โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ ปี 66 ควรจะอยู่ระดับใด อันดับที่ 1 : 0.75-1.00% อันดับที่ 2 : 1.00-1.25% อันดับที่ 3 : คงที่ 0.50% อันดับที่ 4 : 1.25-1.50% อันดับที่ 5 : 1.5-1.75% อันดับที่ 6 : 1.75 – 2.00% และอันดับที่ 7 มากกว่า 2.00%
ขณะที่ค่าเงินบาทที่เหมาะสมสำหรับภาคอุตสาหกรรมควรอยู่ระดับใด อันดับที่ 1 : 32-34 บาท/ดอลลาร์ อันดับที่ 2 : 34-36 บาท/ดอลลาร์ อันดับที่ 3 : 30-32 บาท/ดอลลาร์ อันดับที่ 4 : 36-38 บาท/ดอลลาร์ และอันดับที่ 5 : มากกว่า 38 บาท/ดอลลาร์
แนวทางในการลดผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาทของภาคอุตสาหกรรม อันดับที่ 1 ทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน อันดับที่ 2 เปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบภายในประเทศ อันดับที่ 3 ขึ้นราคาขายในประเทศเพื่อส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภค และ อันดับที่ 4 การใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขายระหว่างกัน
ขณะที่ภาครัฐควรมีมาตรการ/นโยบาย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาท อันดับที่ 1 กำกับดูแลการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท และมาตรการป้องปราม หรือจำกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท อันดับที่ 2 ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบและสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ อันดับที่ 3 มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) และอันดับที่ 4 ปรับเพดานราคาสินค้าควบคุมให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่ควรนำมาเป็นเหตุผลในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อันดับที่ 1 รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท อันดับที่ 2 ชะลอการไหลออกของเงินทุน และดึงดูดผู้ลงทุนต่างประเทศ อันดับที่ 3 รักษาเสถียรภาพอัตราเงินเฟ้อฝังลึก (Entrenched Inflation expectation) เช่น การปรับขึ้นราคาสินค้าล่วงหน้าเนื่องจากการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับขึ้น และอันดับที่ 4 ลดพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ค. 65)
Tags: มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์, ส.อ.ท., สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, อัตราแลกเปลี่ยน, อุตสาหกรรม, เงินบาท