นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า การวางหลักประกันการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบของผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม ในการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายและหน้าที่รับผิดชอบการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม รวมทั้งทำให้รัฐมีความมั่นใจว่าผู้รับสัมปทานจะไม่ละทิ้งหน้าที่ตามกฎหมายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งภายหลังสิ้นสุดการใช้งาน
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้รับสัมปทานในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559
ที่ผ่านมามีผู้รับสัมปทาน จำนวน 12 ราย สำหรับแปลงสำรวจ จำนวน 8 แปลง ที่ได้ดำเนินการในการยื่นแผนงานการรื้อถอน และวางหลักประกันการรื้อถอนตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างถูกต้อง ประกอบด้วย
- 1. ซิโน-ยู.เอส. ปิโตรเลียม อิงค์
- 2. Central Place Company Ltd.
- 3. Thai Offshore Petroleum Ltd.
- 4. Sino Thai Energy Ltd.
- 5. เอ็กซอน โมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์
- 6. บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด
- 7. บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่ลแนล จำกัด
- 8. บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
- 9. เมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด
- 10. เมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (อีแอนด์พี) ลิมิเต็ด
- 11. บริษัท บุษราคัม มโนรา จำกัด
- 12. บริษัท Tap Energy (Thailand) Pty Ltd.
ทั้งนี้ การวางหลักประกันการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมนอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประเทศว่าผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมจะสามารถดำเนินการรื้อถอน ฟื้นฟู ปรับปรุงสภาพพื้นที่ และจัดการสิ่งติดตั้งในการประกอบกิจการปิโตรเลียมที่เลิกใช้งานแล้วอย่างเหมาะสม โดยมีเป้าหมายที่จะให้พื้นที่เหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก ยังเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้รับสัมปทานในการดำเนินธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับหลักแนวคิด ESG ที่มีบทบาทมากในปัจจุบันที่ใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน
โดยคำนึงถึงประเด็นพื้นฐานใน 3 ด้านที่สำคัญ ได้แก่
- ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental : E) คือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ
- ด้านสังคม (Social : S) คือ การบริหารประโยชน์ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กร เช่น พนักงาน ลูกค้า และชุมชน อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม
- ด้านธรรมาภิบาล (Governance : G) คือ การดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ ภายใต้กฎ ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด และดูแลผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทอย่างเป็นธรรม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในส่วนของบริษัทผู้รับสัมปทานโดยตรง และประเทศให้มีความมั่งคงด้านพลังงานควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสังคมที่ดีด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ค. 65)
Tags: กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, ปิโตรเลียม, สราวุธ แก้วตาทิพย์, สัมปทานปิโตรเลียม