นายสุรมนต์ มีเมศกุล ผู้รับมอบอำนาจจาก บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการกิจการขนส่งมวลชนระบบรถไฟฟ้า และเป็นบริษัทในกลุ่มบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีพันตำรวจโทยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับเรื่อง ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดกรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ ศูนย์วัฒนธรรมฯ)
บริษัทฯ ได้พิจารณาแล้ว พบว่า ข้อกำหนดเงื่อนไขในสาระสำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ มีเจตนากีดกันบริษัทฯ ไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใดอย่างชัดเจน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาร้องทุกข์นี้บริษัทฯ ได้มีการร้องเรียนเรื่องที่ไม่ถูกต้องนี้ยังผู้รับผิดชอบตามกฎหมายมาโดยตลอด แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ จึงขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) บริษัทฯ จึงได้ซื้อเอกสารคัดเลือกโครงการและรวมกลุ่มบริษัทที่มีคุณสมบัติเตรียมยื่นข้อเสนอภายในกำหนดเวลาที่ประกาศ ระหว่างนั้น บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ (ITD) ได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ รฟม. ขอให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกได้เห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะใหม่
บริษัทฯ จึงได้มีหนังสือร้องเรียนและขอให้มีการตรวจสอบไปยังผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่บริษัทฯ ร้องขอ โดยขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง เมื่อถึงกำหนดยื่นข้อเสนอ มีเพียงกลุ่มบริษัทเพียงสองราย คือบีทีเอสซี ของผู้กล่าวหา และบมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เท่านั้นที่ยื่นข้อเสนอเพื่อเข้าแข่งขัน แต่ รฟม.กลับไม่ดำเนินการแข่งขันต่อไป และได้มีประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวน ฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และนำประกาศยกเลิกดังกล่าวไปยื่นต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้จำหน่ายคดี
บริษัทฯ จึงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเป็นคดีใหม่อีกคดีหนึ่ง โดยฟ้องขอให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกที่ให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนรวมทั้งยกเลิกประกาศ รฟม. เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวน
ต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีที่ฟ้องว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะไม่ชอบว่า การดำเนินการของคณะกรรมการคัดเลือก ในการกำหนดหลักเกณฑ์ในครั้งแรก ได้ดำเนินการมาโดยชอบด้วยกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติร่วมทุนฯ ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจแก่คณะกรรมการคัดเลือกในการแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก ส่วนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะมีอำนาจกระทำได้ แต่ต้องไม่เกินขอบอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามประกาศคณะกรรมการนโยบาย การแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญและมีผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินที่จะต้องใช้จ่ายจำนวนมาก จึงเป็นการดำเนินการโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนดังที่กำหนดไว้ตามประกาศคณะกรรมการนโยบาย ถือเป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อคณะกรรมการคัดเลือก และ รฟม. ทราบคำพิพากษาของศาลปกครอง แทนที่จะดำเนินกระบวนการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดไว้ตามประกาศ ฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 กลับออกประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนขึ้นใหม่ เพื่อนำไปสู่การออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนใหม่ ทั้งๆ ที่ยังมีคดีฟ้องว่า การยกเลิกประกาศเชิญชวนที่ผ่านมาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
บริษัทฯจึงได้ทำหนังสือทักท้วงไปยังผู้รับผิดชอบตามกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง โดยเห็นว่า ข้อทักท้วงมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการคัดเลือกเอกชนของโครงการ ซึ่งกำหนดให้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ รฟม. ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ คณะกรรมการคัดเลือก รวมทั้งผู้บริหารในแต่ละระดับที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมาย ที่ต้องนำประเด็นการร้องเรียนและผลแห่งคดีปกครองมาพิจารณาก่อนดำเนินกระบวนการคัดเลือกต่อไป
และต่อมาศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทราบดีว่า หากศาลปกครองกลางเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การคัดเลือกไม่ชอบด้วยกฎหมาย และพิพากษาเพิกถอนหลักเกณฑ์ดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนิติบุคคลที่ยื่นข้อเสนอก็จะมีสิทธิได้รับการพิจารณาข้อเสนอตามหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดไว้ การรอคำพิพากษาก่อน เป็นวิธีการอยู่ในวิสัยที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองสามารถกระทำได้ การยกเลิกประกาศเชิญชวน โดยมิได้คำนึงถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างรัฐและเอกชน ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ จึงถือว่า มติและประกาศยกเลิกใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาของศาลปกครองกลางทั้งสองฉบับพิพากษาว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการยกเลิกประกาศเชิญชวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกตามประกาศเชิญชวน ฉบับแรก ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ซึ่งดำเนินการมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้สิทธิแก่ผู้กล่าวหาเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม จึงสมควรต้องนำมาใช้เพื่อพิจารณาดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ ตามมาตรา 6 (5) แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ที่กำหนดไว้ว่า “ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการจัดทำและดำเนินการโครงการร่วมลงทุน รวมถึงกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง ”
แต่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก กลับเพิกเฉยต่อคำพิพากษาของศาลปกครองกลางทั้งสองฉบับ และข้อทักท้วงของบริษัทฯ ดำเนินกระบวนการคัดเลือกใหม่ต่อไปโดยการออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินไม่เกิน 96,012 ล้านบาท ฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 กำหนดการรับซองเอกสารข้อเสนอในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เวลา 9.00 ถึง 15.00 น. และเปิดซองข้อเสนอในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 แสดงถึงเจตนาที่ต้องการจะดำเนินการคัดเลือกต่อไปโดยไม่รอผลของคำพิพากษาศาลปกครองให้ถึงที่สุด
และเมื่อดูในรายละเอียดข้อกำหนดคุณสมบัติด้านเทคนิค ประสบการณ์ ผลงาน ตามประกาศเชิญชวน ฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 มีความแตกต่างไปจากฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ คือ
1. ต้องมีผลงานกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย
2. ผลงานต้องแล้วเสร็จ
3. ผู้รับเหมาต้องเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียว หรือกลุ่มนิติบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ฯลฯ
การกำหนดคุณสมบัติใหม่นี้ ทำให้กลุ่มนิติบุคคลของบริษัทฯ ที่เคยมีคุณสมบัติสามารถเข้าแข่งขันในโครงการนี้ ไม่สามารถเข้าแข่งขันตามประกาศฉบับหลังนี้ได้ ในขณะที่ข้อกำหนดฉบับหลังนี้กลับไม่มีผลกระทบ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอคู่แข่งขันรายเดียวของบริษัทฯ ตามประกาศ ฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ยังคงสามารถยื่นข้อเสนอตามประกาศฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ได้ ซึ่งรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกทราบดีว่า ด้วยคุณสมบัติและรายละเอียดที่กำหนดขึ้นใหม่นี้ จะทำให้กลุ่มนิติบุคคลของบริษัทฯ ขาดคุณสมบัติและไม่สามารถเข้าร่วมแข่งขันราคาตามประกาศเชิญชวนฉบับใหม่ได้ ข้อกำหนดดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ เพื่อกีดกันกลุ่มนิติบุคคลของบริษัทฯ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคาคู่แข่งอีกรายอย่างชัดเจน
นายสุรมนต์ กล่าวว่า วันนี้บริษัทฯ จึงได้มอบอำนาจให้ผมมาร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อขอให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบและพิจารณาดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิด ผู้สนับสนุน ตามความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ที่มิให้มีการแข่งขันราคากันอย่างแท้จริงและเป็นธรรม ช่วยเหลือ เอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคารายหนึ่ง หรือ หลายรายให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญา หรือ เพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใดมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม
รวมทั้งขอให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้ใดรู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่า ควรรู้ว่าการดำเนินการเสนอราคาในครั้งนั้นมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 แล้วละเว้นไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาในครั้งนั้นด้วยหรือไม่ ซึ่งความผิดที่ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษในครั้งนี้เป็นการกระทำที่เข้าลักษณะความผิด ตามประกาศ กำหนดรายละเอียดของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ของคณะกรรมการคดีพิเศษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ที่มีหรือมีมูลน่าเชื่อว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาเพื่อเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีวงเงินหรือมูลค่าตั้งแต่สามสิบล้านบาทขึ้นไป เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
และหากต้องส่งให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา ขอให้ ร้องขอต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้ดำเนินการตามมาตรา 28 วรรคท้าย ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ค. 65)
Tags: BEM, BTS, BTSC, DSI, ITD, บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, รถไฟฟ้าบีทีเอส, รฟม., ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ