ภาคเอกชนคาดปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ที่ต้องใช้ในระบบสมองกลของรถยนต์ อาจลากยาวถึงปี 67 กระทบการผลิตและส่งมอบรถยนต์ล่าช้า หลังเกิดภาวะตึงตัวมาอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ชี้แม้ลงทุนผลิตเพิ่มต้องใช้เวลา เหตุเป็นการลงทุนมูลค่าสูง ประกอบกับเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว
จากปัญหาการผลิตและส่งมอบชิ้นส่วนล่าช้า ทำให้ค่ายรถยนต์หลายแห่ง อาทิ ค่ายฮอนด้า และนิสสัน ได้ออกมาชี้แจงต่อลูกค้าถึงผลกระทบจากการขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก และการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การผลิตรวมถึงการขนส่ง ทำให้ไม่สามารถวางแผนการผลิตและการส่งมอบได้ ดังนั้นกำหนดการส่งมอบรถที่จองไว้อาจนานกว่าปกติ
อย่างกรณีของ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า การส่งมอบที่ล่าช้าเกิดจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่มีมาอย่างยาวนานและยังคงต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังมีอัตราที่รุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนบางรายในต่างประเทศ ไม่สามารถส่งชิ้นส่วนให้บริษัทเพื่อนำมาประกอบรถยนต์ได้ อีกทั้งแผนการส่งมอบชิ้นส่วนยังมีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ในแต่ละภูมิภาค ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถวางแผนการผลิตและส่งมอบได้อย่างแม่นยำ
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอมรับว่า ปัญหานี้คงแก้ไขไม่ได้เร็ว เพราะเป็นปัจจัยที่คุมได้ยาก ต้องรอการส่งมอบจากโรงงานไปตามลำดับใบสั่งซื้อ ที่ผ่านมาก็ไม่มีผู้ผลิตรถยนต์รายใดสั่งสต็อกไว้ เพราะต้นทุนสูง
ทั้งนี้ การขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ที่มีความยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อระบบอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 63 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนต้องมีการล็อกดาวน์ทั่วโลก ทำให้เกิดปัญหาซัพพลายตึงตัวตั้งแต่ช่วงปลายปีเรื่อยมาจนถึงขณะนี้ แม้สถานการณ์โรคโควิด-19 จะคลี่คลาย
ผลกระทบในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์บางแห่งต้องหยุดทำการผลิตเป็นระยะๆ 7-10 วัน พอได้รับมอบชิ้นส่วนชิปจึงกลับมาทำการผลิตต่อ ซึ่งส่งผลให้การส่งมอบรถยนต์ให้ลูกค้าล่าช้าไปด้วย แต่หากเป็นรถปิคอัพที่ใช้ชิ้นส่วนชิปไม่มาก จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการส่งมอบให้ลูกค้ามากนัก
“ผ่านมา 2-3 เดือนแล้ว มีรถบางรุ่นที่ยังไม่ได้ส่งให้ลูกค้าที่จองในงานมอเตอร์โชว์เลย” นายสุรพงษ์ กล่าวกับ “อินโฟเควสท์”
สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนชิปอย่างรุนแรง ไม่ได้มาจากกำลังผลิตที่ไม่เพียงพออย่างเดียว แต่ความต้องการใช้มีเพิ่มมากขึ้น โดยความต้องการชิปในอุตสาหกรรมยานยนต์คิดเป็นประมาณ 10% ของการผลิต ส่วนที่เหลือเป็นการนำไปใช้ผลิตโทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ รวมถึงการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งมีความต้องการใช้ชิ้นส่วนชิปสูงในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากการทำงานที่บ้าน (Work From Home)
“ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบความปลอดภัย ซึ่งเป็นส่วนที่มีสำคัญ แต่อาจมีรถยนต์บางรุ่นที่ต้องการใช้ชิ้นส่วนเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกด้วย” นายสุรพงษ์ กล่าว
โฆษกกลุ่มยานยนต์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันผู้ผลิตรถยนต์มีการปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการตั้งบริษัทลูกในการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่กว่าจะผลิตได้ต้องใช้ระยะเวลาเกือบ 3 ปี หรือราวปลายปี 67 เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูง ต้องใช้บุคลากรที่มีความสามารถ ขณะที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันสูง
สำหรับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบล่วงหน้าได้ ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด ซึ่งสถิติในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมา ยังคาดว่าปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ ยอดการผลิต 1.8 ล้านคัน และส่งออก 1 ล้านคัน
“ยังประเมินล่วงหน้าไม่ได้ ต้องรอดูต่อไป ปีที่แล้วยอดส่งออกมาพุ่งช่วงปลายปี หลังจากได้รับส่งมอบชิป” นายสุรพงษ์ กล่าว
ในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ประกาศยอดผลิตรถยนต์ 129,231 คัน ลดลง 7.80% จากเดือน พ.ค.64 ทั้งจากการผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะ รวมทั้งผลิตรถยนต์นั่งขายในประเทศ แต่เพิ่มขึ้น 9.72% จากเดือน เม.ย.65 ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนรถยนต์ที่ผลิตทั้งสิ้น 727,095 คัน เพิ่มขึ้น 2.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ 64,735 คัน เพิ่มขึ้น 2.06% จากเดือน เม.ย.65 และเพิ่มขึ้น 15.71% จากเดือน พ.ค.64 ส่วนยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปอยู่ที่ 76,937 คัน หดตัว 3.20% จากเดือน พ.ค.64 และลดลง 48.78% จากเดือน เม.ย.65 เนื่องจากยังคงประสบปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนบางอย่าง แม้กระบวนการผลิตจะกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว
โฆษกกลุ่มยานยนต์ฯ กล่าวว่า ในต่างประเทศมีการส่งมอบรถยนต์ที่ใส่ชิ้นส่วนชิปไม่ครบให้ลูกค้า และจะใส่ชิ้นส่วนชิปเกี่ยวกับเรื่องอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมให้ภายหลังเมื่อโรงงานส่งมอบชิ้นส่วนชิปมาให้แล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการส่งมอบรถยนต์ให้ลูกค้า แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการดำเนินการในรูปแบบดังกล่าว จึงทำให้การส่งมอบล่าช้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 65)
Tags: ชิป, ยานยนต์, รถยนต์, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์, ฮอนด้า, เซมิคอนดักเตอร์