สำนักข่าวซีเอ็นบีซีนำเสนอการคาดการณ์จากนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งระบุว่า ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร (UK) คนถัดจากนายบอริส จอห์นสัน มีแนวโน้มจะออกนโยบายสนับสนุนทางการคลังมากขึ้นและประสานรอยร้าวในความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป (EU)
แม้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการแต่งตั้งผู้นำคนใหม่จะเริ่มขึ้นเมื่อใด แต่แหล่งข่าวระบุว่า เป้าหมายคือต้องหานายกฯ คนใหม่ให้ได้ก่อนการประชุมพรรคอนุรักษ์นิยมในเดือนต.ค.นี้ โดยเจ้ามือรับแทงพนันใน UK หลายแห่งเปิดเผยว่า ตัวเต็งในบรรดาผู้ท้าชิงทั้ง 11 คนคือ นายริชิ ซูแนค, นางเพนนี มอร์เดิร์นต์ และนางลิซ ทรัสส์
ทั้งนี้ นายจอห์นสันประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ก.ค. แต่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปจนกว่าจะได้ผู้นำคนใหม่
การขับไล่นายจอห์นสันมีขึ้นในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ 9.1% ในเดือนพ.ค. เนื่องจากค่าอาหารและค่าพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นทำให้วิกฤตค่าครองชีพของประเทศยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น
ด้วยเหตุนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนจึงคาดว่าผู้รับช่วงต่อจากนายจอห์นสัน จะเพิ่มการสนับสนุนทางการคลังเพื่อพยุงเศรษฐกิจของประเทศ
โมดูเป อเดกเบ็มโบ นักเศรษฐศาสตร์ G-7 จากแอ็กซ่า อินเวสต์เมนท์ แมเนจเมนต์ กล่าวว่า คำถามสำคัญคือนายจอห์นสันจะใช้ช่วง “รักษาการ” ในฐานะนายกฯ เพื่อผลักดันนโยบายการคลังระยะสั้นหรือไม่
“อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เราจะเห็นแนวโน้มการใช้จ่ายงบประมาณและ/หรือปรับลดภาษีเพิ่มเติม” อเดกเบ็มโบกล่าว
นายบอริส กลาส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากเอสแอนด์พี โกลบอล เรทติงส์ มองว่า รัฐบาลใหม่อาจพยายามสมานความสัมพันธ์กับ EU โดยใช้แนวทางแบบประนีประนอมมากขึ้นในความสัมพันธ์ทางการค้า แต่นายกลาสไม่การันตีว่าแนวทางนี้จะเกิดขึ้นแน่นอน หากพิจารณาจากมุมมองของแต่ละคนภายในพรรคอนุรักษ์นิยม
นายคัลลัม พิกเกอริง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารเบเรนเบิร์ก กล่าวในทำนองเดียวกันว่า “เมื่อดูจากรายชื่อผู้รับช่วงต่อจากจอห์นสันในชุดแรกแล้ว ความเป็นไปได้ดูจะโน้มเอียงไปทางความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปที่ตึงเครียดน้อยลง”
“แม้แต่ผู้สมัครสายสนับสนุนเบร็กซิตอย่างเข้มข้น (นางเพนนี มอร์เดิร์นต์ และนางลิซ ทรัสส์) ก็ยังมีความเป็นประชานิยมน้อยกว่าจอห์นสัน”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 65)
Tags: บอริส จอห์นสัน, อังกฤษ