ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 14-15 มิ.ย. โดยระบุว่า กรรมการเฟดยังคงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการควบคุมเงินเฟ้อ แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยก็ตาม โดยกรรมการเฟดเชื่อว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75% ในการประชุมเดือนก.ค.ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม และมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับที่รุนแรงมากขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
“ในการอภิปรายถึงนโยบายที่คาดว่าจะมีการบังคับใช้ในการประชุมครั้งต่อไปนั้น กรรมการเฟดยังคงเล็งเห็นว่า การปรับเพิ่มเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (Federal Funds Rate) ถือเป็นเรื่องเหมาะสมในการบรรลุเป้าหมายของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) โดยกรรมการเฟดเชื่อว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75% ในการประชุมเดือนก.ค.”
รายงานการประชุมเฟดยังระบุด้วยว่า การที่คณะกรรมการ FOMC มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งจำเป็นต่อการควบคุมตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2524 โดยเฟดจะดำเนินนโยบายคุมเข้มทางการเงินไปจนกว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมายระยะยาวที่ระดับ 2%
“กรรมการเฟดมีความเห็นตรงกันว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐมีความแข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับการคุมเข้มนโยบายการเงิน และกรรมการเฟดพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะใช้นโยบายคุมเข้มมากขึ้นหากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว”
“กรรมการเฟดตระหนักว่า การคุมเข้มนโยบายการเงินอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงในช่วงเวลาหนึ่ง แต่กรรมการเฟดมองว่า การทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ถือเป็นภารกิจที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายการจ้างงานที่เต็มศักยภาพอย่างยั่งยืน” รายงานการประชุมเฟดระบุ
สำหรับการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ที่ประชุมมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2537
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 65)
Tags: ดอกเบี้ย, ธนาคารกลางสหรัฐ, นโยบายการเงิน, เฟด