ตลาดพันธบัตรสหรัฐยังคงเกิดภาวะ inverted yield curve ในวันนี้ ต่อเนื่องจากวานนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีดีดตัวสูงกว่าอายุ 5 ปีและ 10 ปี ท่ามกลางความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอยจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ณ เวลา 18.06 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 2.845% โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรดังกล่าวสูงกว่าพันธบัตรอายุ 5 ปี ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.822% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ระดับ 2.818%
ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ที่ผ่านมา ภาวะ inverted yield curve มักเกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรระยะสั้น และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยนักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐ หลังจากที่เฟดส่งสัญญาณเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว
ทั้งนี้ เฟดสาขาแอตแลนตาเปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 2.1% ในไตรมาส 2 จากเดิมที่บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มหดตัว 1.0%
ตัวเลขคาดการณ์ GDPNow บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวในไตรมาส 2 รุนแรงกว่าไตรมาส 1 ซึ่งหดตัว 1.6% และแสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน
เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันพรุ่งนี้
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เฟดมีความมุ่งมั่นในการสกัดเงินเฟ้อ แม้การใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินจะชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็จะไม่สร้างความเสี่ยงที่รุนแรง
“เรามีความมุ่งมั่นที่จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่เรามีเพื่อทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลง ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็คือการลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งแม้จะมีความเสี่ยง แต่ผมก็มองว่านี่ไม่ใช่ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดต่อเศรษฐกิจ โดยความผิดพลาดมากกว่าที่อาจเกิดขึ้นก็คือความล้มเหลวในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา” นายพาวเวลกล่าว
สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 53.0 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 54.9 จากระดับ 56.1 ในเดือนพ.ค.
ดัชนีภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ขณะที่การจ้างงานปรับตัวลงเช่นกัน
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยรายงานการประชุมของเฟดประจำวันที่ 14-15 มิ.ย.ในวันนี้ รวมทั้งตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์นี้
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 250,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ต่ำกว่าระดับ 390,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. และคาดว่าอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.6%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ค. 65)
Tags: ตราสารหนี้, บอนด์, หุ้นกู้