นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีต รมว.คลัง ระบุรู้สึกผิดหวังกับผลประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เพื่อพิจารณาวิธีแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง เพราะยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมา เป็นเพียงการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก 2 ชุด และเมื่อนายกรัฐมนตรีเปรียบเทียบหน้าที่ของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดว่าคล้ายกับ ครม.เศรษฐกิจ ยิ่งเกิดข้อสงสัยว่าแล้วทำไมถึงไม่ให้ ครม.เศรษฐกิจทำหน้าที่ตรงนี้
“การตั้งกรรมการมีคนนั่งล้อมวงตามวัฒนธรรมการทำงานราชการไทย ไม่มีใครกล้าพูดหรือเสนออะไร ท่านนายกฯ นั่งหัวโต๊ะว่าอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น ซึ่งมันไม่ได้นำไปสู่การมีข้อสรุปหรือนโยบายใดๆ ที่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับประชาชนได้ ขอย้ำว่า ประชาชนเดือดร้อน น้ำมันแพง ของแพง มันเป็นภาระกับประชาชนโดยตรง มันไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ได้ด้วยการตั้งคณะกรรมการชุดแล้วชุดเล่า จริงๆ การแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องยาก มันมีมาตรการและทางออกที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่มีคนในวงการทำให้ดูสลับซับซ้อนเพื่อที่สุดท้ายจะทำให้ไม่มีคำตอบ”
นายกรณ์ กล่าว
เมื่อสัปดาห์ก่อน นายกรัฐมนตรีได้เชิญ รมว.พาณิชย์ และ รมว.พลังงาน มาปรึกษาหารือกันก็ควรจะต้องได้ข้อสรุปถึงแนวทางแก้ปัญหาแล้ว เพราะทั้ง 3 คนถือว่ามีอำนาจสูงสุดที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ โดยปัญหาสินค้าราคาแพง ราคาน้ำมันแพง เป็นภาระของประชาชนทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อน
“ปัญหามันควรจะจบนับตั้งแต่วันนั้น เพราะข้อมูลของทั้งสองท่านต้องมีครบถ้วน และมีอำนาจเต็มในการดำเนินการ ขนาดพวกเราไม่ได้เป็นรัฐบาลยังสามารถติดตามข้อมูลจากทางราชการ เพื่อประเมินสถานการณ์ นำไปสู่แนวทางในการแก้ปัญหาได้”
นายกรณ์ กล่าว
หัวหน้าพรรคกล้า ได้ย้ำข้อเสนอในการแก้ปัญหาที่ให้รัฐบาลเข้าไปกำกับดูแลค่าการกลั่น เพื่อไม่ให้โรงกลั่นกำหนดค่าการกลั่นสูงเกินไป โดยชี้ให้เห็นว่าในภาวะปกติค่าการกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 1 บาทกว่าๆ และในวันที่นำเสนอข้อมูลค่าการกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 8 บาทกว่า ซึ่งจากการติดตามข้อมูลพบว่าบางวันค่าการกลั่นทะลุลิตรละ 10 บาท แต่ที่กลุ่มโรงกลั่นออกมาระบุว่า ค่าการกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 3 บาทนั้น เพราะทางโรงกลั่นคิดย้อนเฉลี่ยไปถึงต้นปี
หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า เราไม่ควรจะถกเถียงเฉพาะตัวเลขค่าการกลั่นที่ไม่ตรงกัน แต่อยากให้ยอมรับความจริงว่า ค่าการกลั่นสูงเกินไปและผิดปกติ ซึ่งในช่วงที่ตนเป็นรัฐมนตรี ราคาน้ำมันดิบเมื่อเดือน เม.ย.54 อยู่ที่ 110 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.65 พบว่าอยู่ที่ 110 ดอลลาร์/บาร์เรลเช่นกัน แต่กลับพบว่าราคาน้ำมันดีเซลจากวันนั้นถึงวันนี้ต่างกันประมาณ 5 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นผลจากเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนด้วย และค่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องบริหารเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่านี้ เพราะไม่เช่นนั้นราคาสินค้าจะแพงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันจะมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ และประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันมากที่สุดในเอเชียเทียบกับจีดีพีของประเทศ
หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า ความแตกต่างชัดเจนคือ เรื่องค่าการกลั่นในช่วงปี 54 ค่าการกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 1.7 บาท แต่ในช่วงเดือน มิ.ย.65 ค่ากลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ลิตรละ 6.8 บาท ซึ่งต่างกันประมาณลิตรละ 5 บาท และมีผลโดยตรงทำให้ราคาน้ำมันแพงกว่าที่ควรจะเป็น และด้วยปัจจัยนี้ทำให้ราคาน้ำมันแพง ซึ่งคนมีอำนาจในเรื่องนี้ คือ รมว.พาณิชย์ เนื่องจากน้ำมันเป็นหนึ่งในสินค้าควบคุม ตาม พ.ร.บ.สินค้าและบริการ แต่กลับไม่ยอมกำหนดมาตรการว่าจะควบคุมอย่างไรไม่ให้ประชาชนเดือนร้อน และควรให้ รมว.คลัง มาร่วมแก้ปัญหาด้วย เพราะกระทรวงคลังมีอำนาจในการกำหนดอัตราภาษี ไม่ว่าจะเป็น ภาษีสรรพสามิตที่เกี่ยวกับน้ำมัน หรือหากจะใช้มาตรการภาษีลาภลอย ก็ถือเป็นหน้าที่ของ รมว.คลัง ที่จะเป็นคนดำเนินการ
หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลออกมายอมรับถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันแพงเกิดขึ้นจากอะไร และยิ่งนายกรัฐมนตรีบอกว่ารอให้กฤษฏีกาตีความอยู่ว่า อำนาจอยู่ที่ใคร และสามารถออกกฏหมายได้หรือไม่นั้น ตนเองพร้อมจะเชื่อถ้าหากรัฐบาลยอมรับตรงๆว่า ค่าการกลั่นที่สูงเกินไปคือปัญหา และพยามยามหาแนวทางแก้ปัญหา ถ้าเป็นแบบนี้อย่างน้อยอุ่นใจได้ว่า รัฐบาลยืนข้างประชาชน และหากต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาก็พร้อมอดทนรอได้
สิ่งสำคัญในกลไกการค้าเสรีต้องมีความโปร่งใสและเป็นธรรมด้วย ซึ่งจากการติดตามข้อมูลพบว่า ส.ส.ที่เป็นกรรมาธิการด้านพลังงานได้ข้อมูลเรื่องต้นทุนการกลั่นจากโรงกลั่น ทางโรงกลั่นยังปฏิเสธที่จะส่งข้อมูลให้ ส.ส.ตรวจสอบ ทำให้เห็นว่า ไม่มีความโปร่งใสและไม่เป็นธรรม
ส่วนที่โรงกลั่นตั้งคำถามว่า เวลาขาดทุนไม่เคยมีใครช่วยนั้น นายกรณ์ กล่าวว่า ผลกำไรหรือขาดทุน รัฐไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ แต่เมื่อมีสถานการณ์ไม่เป็นปกติและสังคมเดือดร้อน หากรัฐไม่เข้าไปช่วยถือว่า เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะหากอยู่ในภาวะไม่ปกติ หากผู้ประกอบการขาดทุน รัฐก็พร้อมเข้าไปช่วยเหลือ
หัวหน้าพรรคกล้า ได้ยกตัวอย่างประเทศอินเดียที่มีการประกาศเก็บภาษีลาภลอยจากโรงกลั่น โดย รมว.คลัง อินเดียชี้แจงว่า อินเดียเคารพสิทธิของผู้ประกอบการที่จะทำกำไร แต่ช่วงนี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ รัฐบาลจึงต้องใช้มาตรการนี้เพื่อลดภาระของรัฐในการลดภาษีให้กับผู้ใช้น้ำมันในประเทศ และอยากเห็นแนวคิดแบบเดียวกันนี้จาก รมว.คลังของไทย ซึ่งมีสถานการณ์เหมือนกัน ความเดือดร้อนของประชาชนเหมือนกัน จึงมีความชอบธรรมที่ดำเนินการได้ ขณะที่โรงกลั่นส่วนใหญ่มีรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีหน้าที่ส่วนหนึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ดูแลผู้ถือหุ้น แต่เงื่อนไขที่ยอมให้เข้าตลาดหุ้นตั้งแต่แรก ต้องไม่ลืมหน้าที่ต่อสังคมด้วย
“ตรรกะนี้ความจริงน่าเสียดายที่เป็นคำพูดจากปากของ รมว.คลังของอินเดีย แต่ผมอยากได้ยินจากปาก รมว.คลังของประเทศไทยเรามากกว่า เพราะสถานการณ์เหมือนกัน ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเหมือนกัน ภาระรัฐบาลเหมือนกัน สิ่งที่จะเพิ่มให้อีกข้อคือ กำไรจากภาคเอกชนที่สูงกว่าปกติ และโรงกลั่นที่มีกำลังการกลั่นส่วนใหญ่มีรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คุณมีหน้าที่ดูแลผู้ถือหุ้นใช่ แต่เงื่อนไขที่เขายอมให้เข้าตลาดหุ้นแต่แรกคือ คุณต้องไม่ลืมหน้าที่ต่อสังคมด้วย คุณสวมหมวกสองใบ วันนี้สังคมเดือดร้อน จะมาอ้างสิทธิของผู้ถือหุ้นเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ดังนั้นวันนี้สังคมเดือดร้อน ก็มีความชอบธรรมในการใช้มาตรการภาษีลาภลอย มาแก้ปัญหาให้กับประชาชน”
นายกรณ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ค. 65)
Tags: กรณ์ จาติกวณิช, น้ำมันแพง, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พรรคกล้า, ราคาพลังงาน, เศรษฐกิจไทย