ผู้ว่าฯ กทม.เผยแก้ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียวคืบหน้า เล็งเปิดสัญญาให้ประชาชนรับรู้

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวความคืบหน้าการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าไปพอสมควร เพราะได้รู้ประเด็นแล้วว่าจุดไหนมีปัญหา และต้องลงในรายละเอียดระหว่าง บมจ.กรุงเทพธนาคม (KT) กับบริษัทเอกชนที่จะต้องเจรจาว่าสามารถลดอะไรได้มากน้อยเพียงใด ส่วน กทม.เองก็ต้องดูเรื่องหนี้เป็นหลัก ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่าจะต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ได้ก่อน

สำหรับหนี้ของ กทม.มี 3 ส่วน คือ ส่วนแรก หนี้ระหว่าง กทม.กับรัฐ ซึ่งในส่วนนี้ไม่ได้กังวลมาก เพราะถึงอย่างไรก็กระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา ส่วนที่สอง หนี้ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และส่วนที่สาม หนี้ค่าเดินรถ โดยเฉพาะในส่วนสัญญาที่ 2 ซึ่งต้องดูว่าสัญญากระบวนการครบถ้วนหรือไม่ ถ้าไม่ครบก็ต้องทำให้ครบเสียก่อนที่จะเริ่มจ่ายหนี้ ต้องทำให้ชัดเจนก่อน และต้องทำอย่างตรงไปตรงมา โดยต้องไปดูเรื่องสัญญาจ้างบีทีเอสเดินรถส่วนต่อขยายปี 2572-2585

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า อยากจะเปิดสัญญาให้ประชาชนทราบ แต่ต้องดูเรื่องกฎหมายให้ชัดเจนก่อน เนื่องจากในสัญญาเขียนไว้ว่าห้ามเปิดเผยต่อสาธารณะ เว้นแต่กฎหมายบังคับ และทางองค์กรผู้บริโภคได้ส่งข้อเรียกร้องมาแล้วว่าจะใช้เป็นจุดที่จะบอกว่าสามารถเปิดเผยได้หรือไม่ โดยจะอ้างอิงจาก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวของสารราชการ

“ถ้าข้อมูลใดที่ประชาชนขอมา ให้ได้ ก็ต้องให้ เพราะประชาชนเป็นเจ้าของเงินที่เราต้องจ่ายเอกชนอยู่แล้ว เป็นเงินภาษีประชาชน และถ้าเปิดเผยได้ จะสรุปให้เสร็จเลยว่าค่าใช้จ่ายการเดินรถเป็นเท่าไร ซึ่งการเปิดเผยดังกล่าว คงไม่ต้องหารือกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากเป็นสัญญาระหว่าง กทม. คือ บริษัทกรุงเทพธนาคม กับเอกชน”

นายชัชชาติ ระบุ

นอกจากนี้ การเปิดเผยสัญญาจะต้องปรึกษากันอีกครั้ง เพราะการเซ็นสัญญาเกิดขึ้นระหว่าง บมจ.กรุงเทพธนาคม กับเอกชน ไม่ใช่ กทม.เป็นคนเซ็น แต่กทม.ต้องรับผิดชอบ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาให้ละเอียด และได้สรุปตัวเลขและค่าใช้จ่ายไว้แล้ว เพราะค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นตัวเลขที่นำมาพิจารณาอัตราค่าโดยสาร

“เราต้องเก็บค่าโดยสารให้ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายที่เรามีสัญญากับเอกชนไว้ เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายจึงมีความสำคัญว่าจะเป็นเท่าไร ดังนั้นเราจะบอกว่าค่าโดยสารจะ 20 บาท หรือ 30 บาท สุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับว่าเราจะต้องจ่ายเขาเท่าไร ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ”

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

ส่วนจะใช้เวลาอีกนานหรือไม่กว่าจะมีความชัดเจนนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า ยังมีเวลาอีก 6-7 ปี เพราะเรื่องนี้จะเริ่มปี 2572-2585 เรื่องเวลาจึงไม่ใช่เงื่อนไข ทั้งนี้ เวลามีเงื่อนเดียว คือเรื่องหนี้ เพราะเป็นหนี้ที่ดอกเบี้ยเดินอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่าเรื่องรถไฟฟ้าจะสามารถนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อใด นายชัชชาติ กล่าวว่า ก็ต้องแล้วแต่ ครม.แต่ทาง กทม. จะต้องให้ความเห็นประกอบไป เชื่อว่าอีกไม่นาน เพราะขณะนี้ทุกอย่างเริ่มชัดเจนแล้ว เพราะทำงานมา 1 เดือนแล้ว

“สิ่งที่หนักใจคือภาระไปตกอยู่ที่ประชาชน เพราะมีเงื่อนของการเซ็นสัญญาอยู่แล้ว จะเป็นอย่างไร จะพูดคุยได้มากน้อยแค่ไหน เพราะบางอย่างเราไม่ได้เป็นคนทำ แต่สัญญาเซ็นไปแล้ว ก็จะมีขบวนการของกฎหมายอยู่ว่าจะทำอย่างไร”

ผู้ว่าฯ กทม.ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top