ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 จะเป็นวันครบรอบ 25 ปี ที่ทางการไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 และเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float Exchange Rate Regime) โดยการตัดสินใจในครั้งนั้น นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของไทย จากเดิมที่ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบผูกติดกับตะกร้าเงิน ที่ทำให้ค่าเงินไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง จนทำให้เกิดการโจมตีค่าเงินบาท โดยเปลี่ยนมาเป็นการลอยตัวแบบมีการจัดการ ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมีความยืดหยุ่น สอดคล้องไปกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า โดยปี 2540 เศรษฐกิจไทยมีปัญหาความไม่สมดุลหลายด้าน ภาคเอกชนและสถาบันการเงินขาดการตระหนักถึงความเสี่ยง มีการใช้จ่ายและกู้ยืมเกินตัว เปิดความเสี่ยงด้าน Maturity and Currency Mismatch มีการก่อหนี้ต่างประเทศสูง และมีการเก็งกำไรอย่างกว้างขวางในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจภาพรวมมีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนตรึงไว้กับตะกร้าเงิน ซึ่งทำให้ถูกโจมตีค่าเงิน และทางการไทยจำเป็นต้องนำทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท โดยในเวลานั้น เงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิลดลงเหลือเพียง 2.8 พันล้านบาท ณ มิ.ย. 2540
หากกลับมามองที่สถานการณ์ในปัจจุบัน จุดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจน ก็คือ ทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูง และแข็งแกร่งกว่าในอดีตมาก โดยระดับเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (เงินสำรองฯ และ Net Forward Position) ของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.51 แสนล้านบาท ณ 24 มิ.ย. 2565 ซึ่งสามารถรองรับภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น การนำเข้า 3 เดือน และหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรได้เต็มจำนวน ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่างประเทศลดลงมาอยู่ที่ระดับ 38.2% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2564 นอกจากนี้ทางการได้เข้ามาดูแลการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นระยะ ผ่านมาตรการ อาทิ การกำหนดเกณฑ์ LTV ทำให้คลายกังวลต่อปัญหาดังกล่าวลงบางส่วน ซึ่งภาพเหล่านี้สะท้อนการเรียนรู้บทเรียนจากอดีต และการวางแนวทางเพื่อไม่ให้ไทยซ้ำรอยเดิม
ขณะที่ปัจจุบัน พบว่าเงินบาทปีนี้มีทิศทางอ่อนค่า สอดคล้องกับหลายสกุลเงินในเอเชีย ซึ่งล้วนได้รับผลกระทบจากปัจจัยของเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่มุมมองการคาดการณ์ของตลาด สะท้อนว่าด้วยข้อจำกัดที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้แม้ว่าธนาคารกลางของประเทศแถบเอเชียเหล่านี้ จะเริ่มวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น แต่จังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะยังคงตามหลังดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อยู่พอสมควร ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จะพบว่าสถานการณ์ในปัจจุบันมีความแตกต่างจากปี 2540 เพราะในปี 2540 เงินบาทที่อ่อนค่า เป็นผลมาจากการปรับอ่อนค่าหลังมีการลอยตัวค่าเงิน เพื่อสะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอของไทยในเวลานั้น
นอกจากนี้ หากดูในเรื่องความผันผวนของค่าเงิน จะพบว่า แม้เริ่มมีภาพการไหลออกของกระแสเงินลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยหลังจากที่สหรัฐฯ เร่งขึ้นดอกเบี้ย แต่ค่าความผันผวนของเงินบาทในปี 2565 ก็ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับภาพรวมของสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ซึ่งมีค่าความผันผวนอยู่ที่ประมาณ 4-6%
ดังนั้น สะท้อนว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงช่วยดูแลความเคลื่อนไหวและลดความผันผวนของค่าเงินบาทท่ามกลางปัจจัยไม่แน่นอนรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและราคาน้ำมัน ตลอดจนสถานการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัด ทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดการเงิน และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจก็ควรที่จะเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมมาช่วยบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเช่นกัน
“ต้องยอมรับว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีโจทย์จากปัจจัยภายนอก ซึ่งไม่เหมือนกับในอดีต โดยปัจจุบันมีต้นตอของปัญหามาจากโควิด-19 สงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งกระทบราคาน้ำมัน รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้มีทั้งประเด็นเฉพาะหน้า และโจทย์เชิงโครงสร้างที่ยังต้องติดตาม” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
สำหรับธนาคารพาณิชย์ไทยในวันนี้ มีสถานะแข็งแกร่งกว่าปี 2540 แต่ก็มีโจทย์ในเรื่องการประคองความสามารถในการทำกำไรให้กลับมาเทียบเคียงระดับก่อนโควิด พร้อมๆ กับการดูแลปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ และการเร่งช่วยปรับโครงสร้างหนี้ในระยะยาวให้กับลูกหนี้
ขณะที่จุดอ่อนในภาคธนาคารที่เคยเป็นชนวนของวิกฤตสถาบันการเงินในช่วงปี 2540 ได้รับการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง การบริหารความเสี่ยงแบบบูรณาการและครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า รวมถึงการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล (Basel III) ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปัจจุบัน มีความเข้มแข็งมากขึ้นกว่าในปี 2540 มาก สะท้อนจากความมั่นคงของระดับเงินกองทุนและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง
รวมถึงมีการจัดการปัญหาหนี้เสียในเชิงรุก โดยสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.79% (ณ เมษายน 2565) ซึ่งสูงกว่าในช่วงปี 2540 สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ในระดับต่ำกว่า 100% และสัดส่วน NPL ณ ไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 2.93% ต่อสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ดี การประคองรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ ภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ยังคงเป็นสถานการณ์ที่มีความท้าทาย ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ธนาคารพาณิชย์ก็มีภารกิจในการดูแลช่วยเหลือลูกหนี้ (ณ เมษายน 2565 ยังมีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลืออีกประมาณ 12.1% ของสินเชื่อรวม) และเร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเปราะบาง เพื่อให้ภาระในการชำระคืนหนี้เหมาะสมกับศักยภาพและความสามารถในการหารายได้ของลูกหนี้ในระยะยาว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะไม่เหมือนกับในปี 2540 และไทยก็ได้มีการเรียนรู้และปรับมาตรการและกฎเกณฑ์มาป้องกันการซ้ำรอย จนทำให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นในหลายๆ ด้าน อาทิ ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ สถานะของสถาบันการเงิน และไม่มีภาวะเก็งกำไรในวงกว้างแบบในปี 2540
อย่างไรก็ดี จากผลกระทบของปัจจัยภายนอก ทั้งวิกฤตโควิด สงครามยูเครน-รัสเซีย ปัญหาราคาน้ำมันสูง และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้โจทย์ที่สำคัญ คือ การช่วยประคองภาคครัวเรือนและธุรกิจให้สามารถรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า อาทิ แรงกดดันเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ/ต้นทุนที่สูง และดอกเบี้ยในประเทศที่กำลังจะขยับขึ้น พร้อมๆ กับการวางแนวทางรับมือกับโจทย์เชิงโครงสร้าง ทั้งระดับหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น การยกระดับทักษะแรงงาน การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเร่งผลักดันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 65)
Tags: lifestyle, ค่าเงินบาท, วิกฤตต้มยำกุ้ง, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เศรษฐกิจไทย