องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ชี้แจงโครงการจ้างเหมาวิ่งรถเมล์ EV นำร่อง 224 คัน มูลค่า 953 ล้านบาท อาจไม่ผ่านคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่า ปัจจุบัน ขสมก. มีรถโดยสารประจำทางอยู่ 2,885 คัน และมีเส้นทางให้บริการ จำนวน 107 เส้นทาง และอยู่ระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากที่ผ่านมา ขสมก. ประสบปัญหาการขาดทุนจากต้นทุนการให้บริการไม่สอดคล้องกับรายได้ที่ได้รับทำให้ มีภาระหนี้สินผูกพันต่อเนื่อง ประมาณ 124,000 ล้านบาท และรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ที่มีอยู่ มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงและดูแลรักษาจำนวนมาก ประมาณ 1,600 ล้านบาทต่อปี
ประกอบกับตามหลักเกณฑ์การบรรจุรถโดยสารประจำทางเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการจากกรมการขนส่งทางบกนั้นกำหนดให้ต้องนำรถใหม่หรือรถที่จดทะเบียนไว้ไม่เกิน 2 ปี เพื่อบรรจุในใบอนุญาตดังกล่าวภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการ
ส่งผลให้ ขสมก. มีความจำเป็นต้องจัดหารถโดยสารประจำทางอย่างเร่งด่วน เพราะไม่มีรถใหม่บรรจุตามเงื่อนไขดังกล่าว ประกอบกับหากไม่สามารถนำรถไปบรรจุได้ทันภายในระยะเวลากำหนดอาจส่งผลให้ ขสมก. เสียสิทธิการเป็นผู้ประกอบกิจการเดินรถอันเป็นภารกิจหลักขององค์การ รวมทั้งไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเท่าเทียมทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ใช้บริการรถโดยสารประจำทางของ ขสมก.
ในเรื่องของการจัดหารถโดยสารในวิธีการจ้างเหมาบริการ แทนที่จะเป็นการซื้อ หรือการเช่ารถโดยสารประจำทางนั้น ขสมก. ขอชี้แจงว่า การจ้างเหมาบริการ (เอกชนจัดหารถโดยสารและพนักงานขับรถ) เป็นการใช้งบดำเนินงานจากค่าโดยสาร ส่วนต่างของต้นทุนด้านเชื้อเพลิง (จากน้ำมันดีเซล เป็น ระบบไฟฟ้า) ส่วนต่างของค่าเหมาซ่อมที่ลดลง รวมทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากรเดินรถ โดยไม่ใช้งบลงทุนเพิ่มในการดำเนินการ ไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม และไม่เป็นภาระผูกพันในระยะยาว เนื่องจากเป็นการทำแผนงานระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นวิกฤตของ ขสมก. โดยเป็นสัญญาระยะสั้น ในช่วงที่รอให้แผนฟื้นฟูได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการ
โดยแนวทางการจัดหารถโดยสารด้วยวิธีการจ้างเหมาบริการนั้น ขสมก. อ้างอิงตามหลักการจำแนกงบประมาณรายจ่ายตามงบประมาณในหมวดค่าใช้สอย ที่หมายถึงรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการ (ค่าจ้างเหมาบริการ เพื่อให้ผู้รับจ้างทำการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับจ้าง แต่มิใช่เป็นการประกอบ ดัดแปลง ต่อเติมหรือปรับปรุง ครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง)
อย่างไรก็ดีภายใต้ขอบเขตของการดำเนินงานในโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเดินรถและลดมลภาวะในเขตเมืองรวมทั้งการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของ ขสมก. ดังที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น ซึ่งมีความต้องการรถโดยสารประจำทาง ประมาณ 200 คัน โดยไม่ใช้งบลงทุน เพราะไม่เป็นรายจ่ายเพื่อให้เกิดสินทรัพย์ถาวร จึงไม่เข้าข่ายดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2563 ประกอบกับ มาตรา 7 (5) แห่ง พ.ร.บ. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561
อย่างไรก็ตาม จากการประชุม คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา นายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบรมว.คมนาคม ได้สั่งการให้ ขสมก. เร่งรัดการดำเนินการตามมติการประชุม คนร. และทุกข้อสังเกตในที่ประชุม ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดเพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการกับประชาชนให้มีประสิทธิภาพและให้ประชาชนได้รับความพึงพอใจอย่างสูงสุด ทั้งในประเด็นการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และการขอคำปรึกษาหารือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้มีความโปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด ต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 65)
Tags: ขสมก., รถเมล์, รถเมล์ EV, รถโดยสาร