นายธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียนและหน่วยบริหารด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวในงานสัมมนา THAILAND ECONOMIC MONITOR Building Back Better, Greener and Resilient-The Circular Economy ว่า การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยนั้นมีแนวคิดมานานพอสมควรแล้ว แต่เป็นการดำเนินงานเพียงบางส่วนเพื่อแก้ไขวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ไม่ได้ครบวงจรทั้งระบบ
เช่น เรื่อง 3Rs (Reduce-Recycle-Reuse) แต่เมื่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากวิกฤตต่างๆ ทำให้กลายเป็นโอกาสที่จะนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำภายในปี 2573
“ตอนนี้ต้องคิดทั้งกระบวนการตั้งแต่เริ่มผลิต ใช้งานแล้ว และเหลือทิ้ง เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อยลง” นายธำรงรัตน์ กล่าว
หลังจากนี้คงต้องดำเนินการ 4 เรื่องเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ การทำงานวิจัย, การปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค, การดำเนินมาตรการเน็ตซีโร่ และการกำหนดในหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งคิดว่าถึงเวลาที่ภาคธุรกิจต้องรีบปรับตัวรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
นางเบญจมาส โชติทอง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการและแผนงาน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนยังมีความล่าช้า เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจน ทำให้เกิดการปล่อยปละละเลย แต่ขณะนี้สังคมมีความเข้าใจเรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น
“ปัจจุบันมีความสูญเสียที่เกิดจากขยะอาหารมากถึง 40% ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ” นางเบญจมาส กล่าว
นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) กล่าวว่า บริษัทฯ ตื่นตัวเรื่องนี้มาราว 20 ปี โดยมีการประกาศเป็นนโยบายมาต่อเนื่อง และมีการพัฒนาสินค้า เช่น การผลิตปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ การให้บริการเรื่องโซลาร์ฟาร์ม และในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ก็มีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ระบบฆ่าเชื้อ ระบบฟอกอากาศแก้ปัญหา PM2.5
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 65)
Tags: ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ, นิธิ ภัทรโชค, ปูนซิเมนต์ไทย, เศรษฐกิจไทย