นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า หลังจากนักเรียนเปิดเทอม โควิดก็ได้มีการระบาดเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วง 2 อาทิตย์หลังนี้ มีผู้ป่วยจำนวนมาก ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง โดยเฉพาะในเด็ก
ทั้งนี้ ถ้าดูการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ศูนย์ฯ ได้ทำการตรวจมาโดยตลอด จะเห็นว่าแต่ละสายพันธุ์จะครองพื้นที่อยู่ไม่นาน สายพันธุ์โอมิครอนเปลี่ยนจาก BA.1 มาเป็น BA.2 และในเดือนนี้สายพันธุ์ BA.2 กำลังจะถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์ BA.5
“ในอาทิตย์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ สายพันธุ์ BA.5 กำลังจะยึดพื้นที่ทั้งหมดแทน BA.2 ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ การระบาดจะเพิ่มขึ้นเป็นระลอก สายพันธุ์ BA.5 เป็นสายพันธุ์ที่หลบหลีกภูมิต้านทานของวัคซีนได้สูงขึ้นไปอีก จึงไม่แปลกที่ฉีดวัคซีนแล้วยังมีโอกาสติดโรคได้ อย่างไรก็ตาม อาการของโรคที่ผ่านมาก็ไม่ได้รุนแรง” นพ.ยง ระบุ
อย่างไรก็ดี ถ้านับจำนวนทั้งหมดของผู้ติดเชื้อ ขณะนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณหลายหมื่นคน มากกว่ายอดที่รับไว้ในโรงพยาบาล ที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานหลายสิบเท่า ดังนั้น อัตราการเสียชีวิตขณะนี้น่าจะน้อยกว่า 0.1% ของผู้ที่ติดเชื้อ และผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็ยังเป็นกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) และผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม
“วัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ ทำให้การระบาดที่ขึ้นสูงขณะนี้ สามารถดูแลรักษาที่บ้านได้เป็นจำนวนมาก การระบาดขณะนี้อยู่ในฤดูกาล และจะระบาดต่อไปจนถึงเดือนส.ค. จึงจะค่อยๆ ลดลง โดยประชาชนส่วนใหญ่ก็จะติดเชื้อไปเป็นจำนวนมาก อยากให้ทุกคนควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็มขึ้นไป จะเป็น 4 เข็มหรือ 5 เข็ม ก็คงขึ้นอยู่กับระยะเวลาห่างของเข็มสุดท้ายว่าฉีดมาแล้วนานเท่าไหร่” นพ.ยง ระบุ
สำหรับผู้ที่ติดเชื้อ ถ้าร่างกายแข็งแรงดีก็จะสามารถหายได้เอง ทั้งนี้ ที่เป็นห่วงคือกลุ่มเปราะบาง และผู้ที่ยังได้วัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม ควรจะได้ยาต้านไวรัส โดยยาต้านไวรัสที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำมีทั้งหมด 3 ตัว ที่ใช้ในการป้องกันลดความรุนแรงของโรค ลดการนอนโรงพยาบาล ลดการเสียชีวิต คือ ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir), ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) และยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ทั้ง 3 ตัวจึงเป็นยาที่แนะนำให้ใช้ในกลุ่มเปราะบางตั้งแต่เริ่มวินิจฉัย และให้เร็วที่สุดอย่างน้อยต้องภายใน 5 วันหลังมีอาการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 65)
Tags: COVID-19, lifestyle, ยง ภู่วรวรรณ, โควิด-19, โอมิครอน