บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการเหมืองแร่โปแตซ จังหวัดอุดรธานี ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอเพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบปุ๋ยจากต่างประเทศที่เป็นสาเหตุของราคาปุ๋ยแพง ขั้นตอนจากนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะเร่งออกประทานบัตรให้กับ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ ITD ถือหุ้นทางอ้อม 90% คาดใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี ในการเริ่มต้นดำเนินการ
เหมืองแร่แห่งนี้มีปริมาณการผลิต 2 ล้านตันต่อปี คาดปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 25 ปี อยู่ที่ 33.67 ล้านตัน เบื้องต้นมูลค่าการลงทุนโครงการประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท โดย ITD มีแผนจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงให้เหลือน้อยกว่า 50% หลังได้ประทานบัตร
ณ สิ้นไตรมาส 1/65 ITD ใช้เงินลงทุนในเหมืองโปแตซไปแล้ว 3,250 ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับบริษัทที่ทำธุรกิจเหมืองโปแตซในต่างประเทศปัจจุบันซื้อขายที่ PBV 4-7 เท่า ดังนั้นหาก ITD ลดสัดส่วนการถือหุ้นในเหมืองโปแตซลงจาก 90% เหลือ 50% โดยขายในราคาสูงกว่ามูลค่าเงินลงทุน 4 เท่า จะทำให้เกิดกำไรเกิดราว 5.2 พันล้านบาท ช่วยเพิ่มมูลค่าตามบัญชีให้ ITD ได้อีก 1.00 บาท/หุ้น ทำให้มูลค่าตามบัญชีเพิ่มจาก 2.37 บาท/หุ้น เป็น 3.37 บาท/หุ้น
อย่างไรก็ตาม กรอบเวลาในการพัฒนาโครงการและราคาที่ ITD ขายได้ยังไม่มีความชัดเจน หากไม่นับรวมโครงการเหมืองโปแตซ ฝ่ายวิจัยแนะนำ Switch จากจุดอ่อนสำคัญเรื่องความสามารถในการทำกำไรของ ITD ที่ต่ำมาก และยังมีความเสี่ยงเรื่องการตั้งสำรองหลายรายการ อาทิ โครงการทวาย ที่อาจทำให้มูลค่าตามบัญชีลดลงได้อีก ประเมินราคาเหมาะสม วิธี Adjusted PBV 1 เท่า ได้ที่ 1.96 บาท
แต่สำหรับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้สูง อาจเก็งกำไรหุ้น ITD ได้ในกรอบราคาสูงสุดไม่เกิน 3.37 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าตามบัญชีที่เป็นไปได้ หาก ITD สามารถขายหุ้นเหมืองโปแตซและมีกำไรตามที่ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ไว้
ขณะที่ TRC ถูกเก็งกำไรจนราคาหุ้นวิ่งชนซิลลิ่ง 0.36 บาท ในฐานะที่ถือหุ้น บมจ.อาเซียนโปแตชชัยภูมิ (APOT) ซึ่งพัฒนาเหมืองโปแตชเช่นเดียวกัน แต่อยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ โดย APOT ได้ประทานบัตรทำเหมือแร่มาตั้งแต่ปี 58 แต่ประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียนและมีความไม่แน่นอนในการหาแหล่งเงินทุนมาพัฒนาโครงการเหมืองแร่โปแตซ ทำให้ TRC ตั้งด้อยค่าเงินลงทุน 1,212 ล้านบาทในงวดไตรมาส 4/61 และยืนยันว่าจะยังไม่เข้าไปมีส่วนร่วมใดๆ ในโครงการดังกล่าวจนกว่าจะมีความชัดเจนที่มากกว่านี้
สำหรับ NWR ราคาปรับขึ้นตาม ITD เพราะถูกมองว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ ITD เนื่องจากผู้ถือหุ้นใหญ่มีนามสกุลเดียวกัน แต่จากการสอบถามไม่พบความเกี่ยวข้องกับโครงการเหมืองโปแตซ ในทางพื้นฐานถือว่า NWR มีความแข็งแรงกว่า ITD โดยจะเห็นพัฒนาการเรื่องรายได้ที่เติบโตก้าวกระโดดในปีนี้ แนะนำ ซื้อ ประเมินราคาเหมาะสมอิง PBV 1 เท่า ได้ที่ 0.89 บาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 65)
Tags: ITD, หุ้นไทย