ITD ล่าสุดพุ่งขึ้น 20.00% หรือเพิ่มขึ้น 0.37 บาท มาที่ 2.22 บาท มูลค่าซื้อขาย 284.94 ล้านบาท เมื่อเวลา 15.30 น. จากราคาเปิด 1.85 บาท ราคาสูงสุด 2.22 บาท ราคาต่ำสุด 1.84 บาท
ขณะที่ TRC ล่าสุด พุ่งขึ้น 28.57% หรือบวก 0.08 บาท มาที่ 0.36 บาท มูลค่าซื้อขาย 87.22 ล้านบาท
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเดินหน้าเหมืองแร่โปแตซ ใน จ.อุดรธานี หลังจาก บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิสำรวจแร่โปแตซใน จ.อุดรธานี ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ครบถ้วน โดยเฉพาะการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากประชาชน ซึ่งขั้นตอนต่อไปกระทรวงอุตสาหกรรมจะไปพิจารณาการออกประทานบัตร
ทั้งนี้ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็นผู้ถือหุ้นหลัก 90% ใน APPC ส่วนอีก 10% เป็นการถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง
นายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากที่ครม.เห็นชอบเดินหน้าเหมืองแร่โปแตซใน จ.อุดรธานี ของ APPC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ITD ทำให้ ITD มีโอกาสดีที่จะเริ่มดำเนินธุรกิจจริงจัง โดยได้รับอานิสงส์จากสงครามรัสเซียและยูเครนทำให้ราคาปุ๋ยแพง รัฐบาลจึงกลับมาสนับสนุนการลงทุนเหมืองโปแตซในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยจากต่างประเทศ
ด้านบล.โกลเบล็ก แนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ITD เนื่องจากมีโครงการลงทุนเหมืองแร่โปรแตชที่จ.อุดรธานี ส่วนหุ้น TRC มีโครงการลงทุนเหมืองแร่โปรแตชเช่นกันแต่อยู่นอกพื้นที่ที่อนุมัติ คือ จ.ชัยภูมิ ซึ่งอาจได้รับอานิสงส์ลำดับถัดไป
อนึ่ง APPC ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตซในบริเวณจังหวัดอุดรธานีจากกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัทได้สำรวจพบแร่คุณภาพดี 2 แหล่ง คือ แหล่งอุดรใต้ และแหล่งอุดรเหนือ โดยมีแผนที่จะพัฒนาแหล่งอุดรใต้เป็นอันดับแรก
โครงการฯ ประกอบด้วยพื้นที่คำขอประทานบัตร 4 แปลง ตั้งอยู่ในเขตบางส่วนของตำบลโนนสูง ตำบลหนองไผ่ และตำบลหนองขอนกว้าง อำเภอเมืองอุดรธานี กับเขตบางส่วนของตำบลนาม่วง ตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี มีเนื้อที่รวมทั้งหมดประมาณ 26,446 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา
จากการสำรวจแหล่งแร่โพแทชในพื้นที่โครงการ พบว่าแหล่งแร่วางตัวในแนวค่อนข้างราบที่ความลึกจากผิวดินประมาณ 300-400 เมตร โดยมีความหนาของชั้นแร่เฉลี่ย 3-4 เมตรและมีความสมบูรณ์เฉลี่ย 23.50% ถือเป็นแหล่งแร่โปแตซที่มีคุณภาพที่ดีแหล่งหนึ่งของโลก โดยใช้ระยะก่อสร้างประมาณ 2 ปี ระยะเวลาการทำเหมือง 21 ปี และระยะการปิดเหมืองและฟื้นฟูสภาพเหมือง 2 ปี มีกำลังการผลิตแม่ปุ๋ยโพแทชสูงสุด 2 ล้านตัน/ปี
ส่วน บมจ. ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC) ถือหุ้นราว 25% ใน บมจ.อาเซียนโปแตชชัยภูมิ (APOT) ซึ่งมีโครงการเหมืองโปแตซใน ใน ต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 6 ก.พ.58 มีอายุ 25 ปี ปริมาณการผลิต 17.33 ล้านตัน/อายุโครงการ แผนการผลิต 1,100,000 ตัน/ปี ซึ่งโครงการได้มีการทดลองทำเหมืองโดยก่อสร้างอุโมงค์ถึงชั้นแร่แล้ว คาดว่าจะเปิดดำเนินการในปี 65 ขณะนี้อยู่ระหว่างระดมเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 65)
Tags: ITD, หุ้นไทย, อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์