นายกฯ ประชุมบอร์ด คทช. สั่งเร่งแก้ปัญหาที่ป่าชายเลนเมืองระนองเป็นโครงการนำร่อง

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบใน 4 เรื่อง ประกอบด้วย

1.เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลนชุมชนเมืองระนอง จังหวัดระนอง ตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินเห็นชอบ และมอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับไปดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งดำเนินการการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลนชุมชนเมืองระนอง จังหวัดระนองโดยเร็ว เพื่อให้เป็นโครงการนำร่องเป็นตัวอย่างในการดำเนินการพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

2.เห็นชอบในหลักการการปรับเปลี่ยนให้ผู้ขอใช้ประโยชน์การอยู่อาศัยและทำกินในป่าสงวนแห่งชาติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ที่จัดที่ดินทำกิน ให้ชุมชน และปฏิบัติตามภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดการใช้ที่ดินและแนวทางปฏิบัติของกรมป่าไม้ มาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 การชำระค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และดำเนินการตามหลักเกณฑ์การประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์

3.เห็นชอบการเสนอเรื่องนำเรียน ครม.ให้กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม “ป่าสวนเมี่ยง” เนื้อที่ประมาณ 361 ไร่ ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นำไปดำเนินการตามกฎหมายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่สมาชิกสมาคมทหารผ่านศึกพิการแห่งประเทศไทย และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเรื่องเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป

4.มอบหมายหน่วยงานไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) ของพื้นที่กลุ่มที่ 2 จำนวน 11 จังหวัด และพื้นที่กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด ให้มีรายละเอียดครบถ้วนยิ่งขึ้น ดังนี้ 4.1 พื้นที่กลุ่มที่ 2 จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก นครสวรรค์ ระยอง (ยกเว้นกรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง) ลพบุรี ศรีสะเกษ และจังหวัดสระบุรี 4.2 พื้นที่กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ และจังหวัดอุบลราชธานี

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่

1.ผลการดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (1.1) กำหนดพื้นที่เป้าหมายแล้ว 1,483 พื้นที่ 70 จังหวัด จำนวน 5,792,144-3-44.75 ไร่ (1.2) ออกหนังสืออนุญาตแล้ว 356 พื้นที่ 1,123,171-3-64.82 ไร่ (1.3) จัดคนเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว 73,809 ราย ใน 331 พื้นที่ 1.4 ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแล้วใน 247 พื้นที่

2.การส่งเสริมเกษตรกรในการปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ และการเข้าถึงการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และมาตรฐานด้านการเกษตรอื่นๆ ของเกษตรกร โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบที่ดินที่นำมาจัดที่ดินในประเภทอื่นที่ออกหนังสืออนุญาตการเข้าทำประโยชน์แล้วยังไม่มอบสมุดประจำตัว ผู้ได้รับการคัดเลือกการจัดที่ดินทำกิน ให้ดำเนินการออกหนังสือหรือเอกสารรับรองการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้กับราษฎร รวมถึงเกษตรกรทุกรายสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินทำกิน พร้อมส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกร โดยการปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่เพื่อเป็นการสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานในห้วงที่ผ่านมาและแผนงานที่จะร่วมกันดำเนินการต่อไป เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทุกคน และดำรงไว้ซึ่งกฎหมายของบ้านเมือง โดยย้ำการแก้ปัญหาหนึ่งต้องไม่นำไปสู่อีกปัญหาหนึ่งตามมาภายหลัง และให้ดำเนินการอย่างรอบคอบ รวมไปถึงขอให้มีการดำเนินการคัดแยกพื้นที่ที่มีปัญหามาก เพื่อคลี่คลายปัญหาให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้มีความสบายใจ ซึ่งในส่วนของพื้นที่รัฐต่อรัฐ ก็ได้มีการดำเนินการแล้วไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาเฉพาะพื้นที่ที่มีประชาชนเข้าไปอยู่ร่วมด้วย ซึ่งต้องไปพิจารณาดำเนินการในเรื่องของการพิสูจน์สิทธิ์ภายหลังเพื่อรักษาสิทธิ์ให้ประชาชนและไม่ให้เกิดปัญหาตามมาอีกในภายหลัง

ส่วนเรื่องการส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ต้องมีการให้ความรู้แก่ประชาชนและเกษตรกรเกี่ยวกับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และมาตรฐานด้านการเกษตรอื่น ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการปลูกพืชที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ปริมาณน้ำ Agri-Map ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ตลอดจนเรื่องของระบบขนส่ง เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มิ.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top