- พาณิชย์ เผยอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. 63 หดตัว -3.44% YoY โดยเฉลี่ย 5 เดือนแรกปีนี้ -1.04%
- คาดอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. เป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ โดยลดต่ำสุดในรอบเกือบ 11 ปี ทั้งปีคาดอัตราเงินเฟ้อติดลบ
- อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือน พ.ค. 63 ขยายตัว 0.01%YoY โดยเฉลี่ย 5 เดือนแรกปีนี้ ขยายตัว 0.40%
- ไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหลังอัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อ ในเดือน พ.ค.63 อยู่ที่ 99.76 ลดลง -3.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในรอบ 10 ปี 11 เดือน แต่เมื่อเทียบเดือน เม.ย.63 ขยายตัว 0.01% โดยในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 63 เฉลี่ย -1.04%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน พ.ค.63 อยู่ที่ 102.51 เพิ่มขึ้น 0.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง -0.30% จากเดือน เม.ย.63 และช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) เฉลี่ย 0.40%
ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 105.05 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -0.01% แต่เพิ่มขึ้น 0.02% จากเดือน เม.ย. 63 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 96.79 ลดลง -5.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบเดือน เม.ย.63 อยู่ที่ 0.00%
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ นอกเหนือจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังมาจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกที่ยังรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งอุปทานส่วนเกินของสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นผลจากการลดลงของอุปสงค์และสงครามการค้า
ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรแม้ยังมีปัจจัยบวกจากภัยแล้งและอุปสงค์ในประเทศ ที่เริ่มดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่าง ๆ แต่การลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเป็นปัจจัยที่น่าจะส่งผลต่ออุปสงค์ในภาคการผลิตและบริการอย่างมีนัยสำคัญตลอดทั้งปี ดังนั้น เงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนมีแนวโน้มที่จะยังหดตัว แต่ในอัตราที่ลดลง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อ ทั้งปี 2563 จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง -1.0 ถึง -0.2% (ค่ากลางอยู่ที่ -0.6%)
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ค.63 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -3.44% ถือเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี 10 เดือน นับตั้งแต่เดือนส.ค.52 โดยมีสาเหตุที่สำคัญจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้จะมีการปรับเพิ่มขึ้นหลายครั้งในเดือนนี้ แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยราคาน้ำมันในเดือนพ.ค.นี้ ลดลงไปถึง 27% รวมทั้งมีมาตรการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพจากภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา นอกจากนั้นราคาอาหารสด เช่น ผักสดในปีก่อนมีราคาสูง ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วจึงทำให้ราคาผักสดปีนี้ลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี
ทั้งนี้ ถือว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิค เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยติดลบต่อเนื่องกัน 3 เดือนแล้ว ตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่อัตราเงินเฟ้อ ลดลง -0.54% เดือนเม.ย.อัตราเงินเฟ้อ ลดลง -2.99% และในเดือนพ.ค. อัตราเงินเฟ้อ ลดลง -3.44%
“เงินเฟ้อลดลงในรอบ 10 ปี 10 เดือน เทียบได้กับช่วงวิกฤติซับไพร์มในรอบนั้น ทำให้เงินเฟ้อของไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิคเพราะติดลบต่ำกว่า 0% ต่อเนื่องกัน 3 เดือนแล้ว แต่หากดูในรายละเอียดของราคาสินค้า จะพบว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นมีมากกว่าราคาสินค้าที่ลดลง ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับหลักการของเงินฝืดอย่างครบถ้วนนัก เพราะถ้าเงินฝืดจริงๆ ต้องมาจากการลดราคาสินค้าจำนวนมาก…แม้จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดในความหมายแคบ แต่ราคาและความเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่น่ากังวล”
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
โดยในเดือนพ.ค.63 มีสินค้าที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนเม.ย.63 รวม 118 รายการ และราคาลดลงจากเดือนเม.ย.อีก 109 รายการ ส่วนที่ไม่เปลี่ยนแปลงราคา มี 195 รายการ
พร้อมคาดว่า อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปของปีนี้ ยังมีโอกาสที่จะติดลบได้อีกหลายเดือน และทั้งปีนี้อัตราเงินเฟ้อจะติดลบตามที่ได้เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ในขณะที่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ค.น่าจะเป็นจุดที่ต่ำสุดของปีนี้แล้ว
“ปีนี้ฐานราคาน้ำมันค่อนข้างต่ำ เพราะจากปีก่อนราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 60-70 ดอลลาร์/บาร์เรล และเชื่อว่าทั้งปีนี้ ราคาน้ำมันคงยังไต่อยู่ระดับไม่เกิน 40-45 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งทำให้เงินเฟ้อปีนี้ยังมีแรงกดดันจากราคาน้ำมันค่อนข้างมาก” ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
แต่อย่างไรก็ดี สนค.จะยังไม่ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อสำหรับปีนี้ โดยยังคงไว้ที่ระดับ -0.2 ถึง -1.0% ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ที่ -5.8 ถึง -4.8% ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 35-45 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับ 30.50-32.50 บาท/ดอลลาร์
น.ส.พิมพ์ชนก ยืนยันว่า สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทยยังไม่น่ากังวล แม้จะมีการติดลบต่อเนื่องกัน 3 เดือน แต่เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการดูแลและยังไม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หากการส่งออกยังสามารถขับเคลื่อนได้บ้าง และราคาน้ำมันเริ่มขยับขึ้นบ้าง ท่ามกลางการอุดหนุนเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้านสาธารณูปโภค ซึ่งจะเป็นตัวช่วยทำให้เงินเฟ้อไม่เพิ่มสูงขึ้นมาก ดังนั้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้ จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อประชาชนผู้บริโภค และขออย่ากังวลว่าเงินฝืดแล้วจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศแย่ลง
ผู้อำนวยการ สนค. แสดงความเห็นว่า ต้องการให้การผ่อนคลายมาตรการเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อช่วยฟื้นฟูการใช้จ่าย และทำให้เศรษฐกิจในประเทศเริ่มกลับมาหมุนเวียนได้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ที่แม้ปีนี้รายได้จากการท่องเที่ยวอาจจะยังไม่กลับมาเป็นปกติจนถึงปลายปี ดังนั้น มาตรการช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว จึงน่าจะช่วยส่งผลดีเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศในปีนี้ด้วยการให้คนไทยเที่ยวไทยกันเองด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มิ.ย. 63)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, พิมพ์ชนก วอนขอพร, สนค, เงินฝืด, เงินเฟ้อ, เงินเฟ้อพื้นฐาน, เศรษฐกิจไทย