KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร คาดการณ์ว่าเงินเฟ้ออาจไม่ใช่ปัญหาระยะสั้น และมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นยาวนานกว่าที่คาด ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยไทยกำลังเปลี่ยนทิศทางเป็นขาขึ้น คาดการณ์เงินเฟ้อเป็น 6.6% ในปี 2565 และ 3.1% ในปี 2566 สิ่งที่ต้องจับตามอง คือ แนวโน้มเงินเฟ้อสูง และดอกเบี้ย จะส่งผลอย่างมากต่อปัญหาค่าครองชีพ ต้นทุน และส่งผลต่อเนื่องกับภาระการชำระหนี้ของครัวเรือนที่จะปรับตัวสูงขึ้น สร้างความเสี่ยงให้เศรษฐกิจไทยซึมยาว
ทั้งนี้ แม้ปัจจัยกดดันเงินเฟ้อที่เกิดจากการเปิดเมือง อาจจะเริ่มคลี่คลาย แต่มีโอกาสที่เงินเฟ้อโลกและเงินเฟ้อไทย จะยังคงอยู่ในระดับสูง และยังไม่ชะลอตัวลงจาก 3 เหตุผล คือ
1. นโยบายการเงินตอบสนองต่อเงินเฟ้อช้า ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกับตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกา สูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติ ปี 2513-2523 สะท้อนว่านโยบายการเงินยังคงผ่อนคลาย และเป็นตัวเร่งอุปสงค์ให้ยังเติบโตร้อนแรง
2. การส่งผ่านของเงินเฟ้อไปยังสินค้าต่าง ๆ ยังมีอย่างต่อเนื่อง ในสถานการณ์ปัจจุบันยังมีราคาสินค้าที่เตรียมปรับขึ้นอยู่อีก ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา ราคาบ้านปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก จากปัญหาต้นทุนและการข้อจำกัดด้านอุปทาน และราคาบ้านที่เพิ่มขึ้นอาจจะทำให้ค่าเช่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และส่งผลให้ให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ ค้างอยู่ในระดับสูงในปี 2566
3. ปัจจัยความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลต่อราคาน้ำมันและอาหาร และความเสี่ยงด้านการคาดการณ์เงินเฟ้อ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อโลกที่ยังไม่มีที่ท่าว่าจะคลี่คลายลง ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศจะยังมีมาก และนโยบายการเงินทั่วโลกจะมีทิศทางตึงตัวชัดเจนขึ้น จะกดดันให้ กนง.เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งต่อไป โดยคาดการณ์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 3 ครั้งในปีนี้ และปรับขึ้นอีก 4 ครั้งในปี 2566
KKP Research เห็นว่า ปัญหาเงินเฟ้อไม่ได้น่ากังวลแค่ในระยะสั้น แต่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างระยะยาวครอบคลุมถึงทศวรรษหน้า จากกระแสโลกที่กำลังเปลี่ยนทิศทางอย่างถาวร คือ
1) การเข้าสู่จุดสูงสุดของยุคโลกาภิวัตน์ การเข้าร่วมการค้าโลกของจีน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตทั่วโลกถูกลง อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างแรงงานในจีนที่สูงขึ้นพร้อมกับภาวะเริ่มขาดแรงงาน ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศที่โตต่ำ สัญญาณความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งจีนและสหรัฐฯ และรัสเซียและยูเครน การย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ เป็นสัญญาณสะท้อนจุดสูงสุดของโลกาภิวัตน์
2) อำนาจตลาดที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง บริษัทในสหรัฐมีแนวโน้มครองอำนาจตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว เช่น ธุรกิจ E-commerce
3) สังคมสูงวัยในระดับโลกอาจเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ แม้ว่าผู้สูงอายุจะบริโภคสินค้าน้อยกว่าคนวัยหนุ่มสาว แต่ปัจจัยสำคัญอีกทางหนึ่งคือสัดส่วนระหว่างคนสูงอายุเทียบกับประชากรวัยทำงาน กำลังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง บ่งบอกว่าแรงงานและกำลังการผลิตกำลังลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้บริโภค
KKP Research ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกในช่วงนี้มีความเสี่ยงกำลังจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในช่วงปลายปี 2566 ถึงปี 2567 โดยสถิติในอดีตสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับดอกเบี้ยขึ้นเพื่อสู่กับภาวะเงินเฟ้อ จะนำเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยเกือบทุกครั้ง และสัญญาณจากตลาดการเงินที่ต้องจับตาดู คือ Inverted Yield Curve ซึ่งมักจะเกิดขึ้นก่อนภาวะเศรษฐกิจถดถอยประมาณ 1 ปี แม้ในปัจจุบัน ตลาดการเงินยังหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะ Soft-landing หรือภาวะที่ไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอย แต่ KKP Research มองว่ามีโอกาสน้อยลงไปเรื่อย ๆ ในภาวะที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อกำลังรุนแรงขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังแสดงความกังวลกับตัวเลขเงินเฟ้อน้อยมาก เมื่อย้อนดูเหตุกาณ์เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นไปก่อนไทย ทำให้เกิดความกังวลว่าสถานการณ์ในประเทศไทย จะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันกับในสหรัฐฯ ที่คาดการณ์เงินเฟ้อผิดพลาด โดยการคาดการณ์เงินเฟ้อของไทยมีความเสี่ยงที่จะต่ำเกินไป จากทั้งผลกระทบต่อเนื่องจากราคาน้ำมันต่อราคาสินค้าอื่น ๆ ที่ยังมีต่อเนื่อง มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ลดลง และค่าเงินบาทที่เริ่มปรับตัวอ่อนค่าลง ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้านำเข้า
“KKP Research ได้ปรับการคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเป็น 6.6% ในปี 2566 และ 3.1% ในปี 2567 และคาดการณ์ว่าแรงกดดันในปัจจุบัน จะทำให้ ธปท. ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 3 ครั้งในปี 2565 และขึ้นอีก 4 ครั้งในปี 2566 อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน จะทำให้การควบคุมเงินเฟ้อทำได้ยากขึ้น และ ธปท. อาจต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าเดิม” บทวิเคราะห์ระบุ
นอกจากปัญหาเงินเฟ้อที่นำไปสู่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง หรือเข้าสู่ภาวะถดถอย จะทำให้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงได้รับผลกระทบอย่างมากผ่านช่องทางการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวแล้ว การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในปี 2565 และ 2566 อาจส่งผลกระทบเพิ่มเติม และเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็กที่ได้รับการส่งผ่านราคาและแรงกดดันที่มาจากภาวะเงินเฟ้อโลกและราคาน้ำมัน
แนวโน้มเงินเฟ้อโลกที่เปลี่ยนไปในระยะยาว และทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น จะส่งผลให้ภาระหนี้ของภาคครัวเรือนไทยปรับตัวสูงขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงกับเศรษฐกิจในประเทศได้ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยที่สูงเกินกว่า 90% ของ GDP สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะมีความเปราะบางต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมากด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มิ.ย. 65)
Tags: lifestyle, ค่าครองชีพ, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย