พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2565 และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 2/2565 ว่า การประชุมคณะอนุกรรมการฯ ทั้งสองชุดในวันนี้ ได้พิจารณาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญและมีความพร้อม เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาด้านน้ำในมิติต่างๆ ให้กับประชาชน ตามกรอบการดำเนินงานแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี
โดยเฉพาะแผนงานพัฒนาระบบระบายน้ำและจัดการน้ำเสีย บริเวณบึงมักกะสัน แนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา และคูน้ำถนนวิภาวดีรังสิต ดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแผนงานดำเนินการ 4 ปี (ปีงบ 2567-2570) ประกอบด้วย 2 กลุ่มโครงการ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาระบบระบายน้ำและจัดการน้ำเสีย บริเวณบึงมักกะสัน และคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต และ 2.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำและถ่ายเทน้ำ บริเวณแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง และจัดการน้ำเสียช่วงถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และบึงมักกะสันไปจนถึงสนามบินดอนเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมพื้นที่ 81.53 ตารางกิโลเมตร และสามารถลดความเสียหายจากการเกิดอุทกภัย
โดยที่ประชุมฯ เห็นชอบการดำเนินการโครงการ และมอบหมายให้ กทม.หารือร่วมกับกรมทางหลวง และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ และเกิดการยอมรับของทุกภาคส่วน รวมทั้งให้นำแผนดังกล่าวเสนอคณะกรรมการลุ่มน้ำเจ้าพระยาพิจารณาให้ความเห็น ก่อนเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้ความเห็นชอบต่อไป
ส่วนโครงการสถานีสูบน้ำดิบพร้อมระบบท่อส่งน้ำเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จ.ปัตตานี ที่ดำเนินการโดย อบจ.ปัตตานี เป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเมืองต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่สำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้โมเดลสามเหลี่ยมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เน้นความมั่นคงด้านน้ำเป็นหลัก โดยเฉพาะน้ำประปาที่สะอาด เพียงพอ และครอบคลุมพื้นที่ มีแผนการดำเนินการ 2 ปี (พ.ศ.2567-2568)
ลักษณะโครงการ ประกอบด้วย โรงสูบน้ำดิบ 1 แห่ง โรงผลิตน้ำประปา 5 แห่ง และระบบโครงข่ายท่อประปาเพื่อส่งน้ำไปยังพื้นที่ 4 อำเภอ ของ จ.ปัตตานี ได้แก่ อ.หนองจิก อ.แม่ลาน อ.โคกโพธิ์ และ อ.เมืองปัตตานี มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 30 ตำบล และมีประชาชนมากกว่า 240,000 คน ที่สามารถเข้าถึงน้ำประปาที่มีคุณภาพดี โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ และให้เสนอ กนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบในการประชุมปลายเดือน มิ.ย.นี้
ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้ติดตามผลการดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ช่วงปี พ.ศ.2561 ถึงปัจจุบัน และความก้าวหน้าการปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยได้นำรายงานการศึกษากรอบแนวทางและพื้นที่เป้าหมายของ 22 ลุ่มน้ำ พ.ศ.2564 และรายงานการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ มาใช้เป็นแนวทางการปรับปรุงแผนแม่บทฯ ด้วยแล้ว เพื่อให้แผนแม่บทฯ มีความครบถ้วนสมบูรณ์และเกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานอย่างแท้จริง รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และโครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยา ระยะที่ 1, โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี, โครงการแก้มลิงทุ่งหิน จ.สมุทรสงคราม และโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกิ จ.น่าน เป็นต้น เพื่อเร่งรัดการเตรียมความพร้อมของโครงการก่อนเสนอ กนช.พิจารณาต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มิ.ย. 65)
Tags: คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, บริหารจัดการน้ำ, ประวิตร วงษ์สุวรรณ, สทนช., สุรสีห์ กิตติมณฑล