นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณุสข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการกระจายวัคซีนโควิด 19 จำนวน 16.8 ล้านโดส สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการวัคซีนของประชาชน ว่า ขณะนี้มีการสื่อสารทำให้เข้าใจผิดว่าการจัดส่งวัคซีนโควิด 19 ไป รพ.สต. ทำให้เกิดปัญหาวัคซีนล้นตู้เย็น และให้ รพ.สต.เป็นถังขยะทิ้งวัคซีน ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1.การจัดสรรวัคซีนโควิดให้แก่ รพ.สต.เป็นไปตามแผนการเร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น ผ่านความเห็นชอบจากอีโอซี กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น กระตุ้นหน่วยบริการให้เร่งรัดฉีดวัคซีน เพิ่มความครอบคลุมของเข็มกระตุ้นในทุกกลุ่มเป้าหมายที่ครบกำหนด จะช่วยลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต รวมถึงปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศ
2.อีโอซี กระทรวงสาธารณสุข มีมติเห็นชอบให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นรายจังหวัด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการและรับเข็มกระตุ้นตามเกณฑ์มากขึ้น โดยวิเคราะห์เป้าหมายและทำแผนปฏิบัติการรายอำเภอ
3.การจัดสรรวัคซีนเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมรองรับระยะ Post Pandemic ของประเทศไทยซึ่งกำหนดเป้าหมายเข็มกระตุ้นอย่างน้อย 60% ปัจจุบันมีเพียง 20 จังหวัดที่ผ่านเกณฑ์ ปัจจัยหนึ่งที่รับเข็มกระตุ้นน้อย คือ การเข้าถึงบริการโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง และผู้ที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล จึงมีนโยบายอำนวยความสะดวกนำวัคซีนทุกชนิดทุกสูตรไปให้บริการที่ รพ.สต. ซึ่งใกล้บ้านและใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด จัดบริการแบบ walk in ทุกจุด ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไกล
4.แผนการจัดสรรวัคซีน 16.8 ล้านโดสสำหรับ รพ.สต. ตัวเลขนี้เป็นโควตา จะทยอยส่งเป็นรอบ ๆ ไปที่คลังวัคซีนจังหวัด ขณะนี้มี 20 จังหวัดที่ได้รับครบตามโควตา โดยมีการประสานแจ้งแผนการจัดส่งให้หน่วยบริการทราบก่อนทุกครั้ง พร้อมตรวจสอบจำนวนวัคซีนคงคลังกับแต่ละจังหวัดก่อนส่งเสมอ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะกระจายวัคซีนต่อไปที่ รพ.สต. ตามศักยภาพการฉีดและความจุของตู้เย็นแต่ละ รพ.สต. ซึ่งหากยังไม่พร้อม ก็สามารถปฏิเสธการรับวัคซีนตามโควตาได้ จึงไม่มีปัญหาเรื่องวัคซีนล้นตู้เย็น ส่วนการจัดเก็บและขนส่งวัคซีนเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้วัคซีนคงสภาพดีที่สุดและปลอดภัย ก่อนนำไปให้บริการประชาชน
5.ระบบการเบิกและจัดการคลังวัคซีน ในช่วงที่ผ่านมาส่วนกลางกำหนดให้พื้นที่ตั้งเบิกตามจำนวนที่ต้องการเป็นรายสัปดาห์ ผ่านกลไกกองตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข จึงไม่มีปัญหาขาดแคลนวัคซีนในพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาที่มีวันหยุดยาวหลายวัน เกิดข้อร้องเรียนจากหลายจังหวัดว่า วัคซีนไปไม่ทันการฉีดในผู้ที่มีกำหนดนัด สะท้อนว่าบางจังหวัดไม่ได้สำรองวัคซีนสำหรับกรณีเหตุฉุกเฉิน แม้จะมีข้อสั่งการให้สำรองวัคซีนที่คลังจังหวัดอย่างน้อย 1 เดือน
ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการเร่งฉีดวัคซีนแบบเชิงรุกทุกกลุ่มเป้าหมาย จึงเห็นควรให้พื้นที่มีคงคลังวัคซีนสำรองเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการวัคซีนในการให้ประชาชนได้รับความสะดวกและเข้าถึงได้ง่าย
“แม้ภาพรวมทั้งประเทศจะฉีดวัคซีนเข็มแรกได้กว่า 81.7% แต่กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 2 ล้านคน และเด็กอายุ 5-11 ปี อีก 2 ล้านคน ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรก ขณะที่บางพื้นที่ บางอำเภอ ฉีดวัคซีนเข็มแรกน้อยมาก บางอำเภอไม่ถึง 60% ส่วนเข็มกระตุ้นพบว่า ส่วนใหญ่ฉีดครบในอำเภอเมือง แต่อำเภอห่างไกลหรือชนบท ฉีดเข็มกระตุ้นได้ค่อนข้างน้อย บางอำเภอฉีดเข็ม 3 ได้ไม่ถึง 10% พื้นที่จึงควรวางแผนเร่งรัดให้ประชาชนในพื้นที่ตนเองได้รับวัคซีนตามเป้าหมาย ทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น ดังนั้น การนำวัคซีนไป รพ.สต.ใกล้บ้านที่สุดจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ทำให้ประชาชนอยากฉีดเมื่อไรก็มาฉีดได้”
นพ.วิชาญ กล่าว
นอกจากนี้ ข้อมูลสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหลายจังหวัด พบว่าการที่ รพ.สต.มีวัคซีนพร้อมใช้ ทำให้เจ้าหน้าที่บริหารจัดการวัคซีนได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องรอวัคซีนที่ส่งมาจากคลังวัคซีนจังหวัด เปิดให้บริการแบบ walk-in หรือรับนัดล่วงหน้าได้แบบไม่ต้องจำกัดจำนวน จัดบริการเชิงรุกให้สถานประกอบการหรือโรงงานที่มีผู้ต้องการฉีดวัคซีนจำนวนมากได้ ไม่ต้องรอการอนุมัติจากคลังวัคซีนจังหวัด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มิ.ย. 65)
Tags: กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณุสข, วัคซีนต้านโควิด-19, วิชาญ ปาวัน