ผู้นำฝ่ายค้านฯ ประกาศคว่ำงบปี 66 ยอมเสียโอกาส ขอให้รบ.ใหม่จัดสรร

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 66 ว่า ฝ่ายค้านไม่เคยปฏิเสธการจัดทำงบประมาณในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้จะไม่รับหลักการในวาระแรก แต่เห็นว่าการจัดทำงบประมาณไม่ได้คำนึงถึงประชาชน จัดสรรงบประมาณไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ ขาดการวางแผนและความสามารถที่จะนำประเทศให้รอดพ้นวิกฤต

“เรามีข้อสรุปร่วมกันว่าจะไม่รับหลักการ เพราะจะเป็นการทำลายประเทศ สู้ยอมเสียโอกาสไปบ้างแล้วให้มีการจัดสรรใหม่ ส่งผลให้ประเทศมีรายได้หด รายจ่ายแพง หนี้สินขยายตัว”

นพ.ชลน่าน กล่าว

เหตุผลที่ฝ่ายค้านไม่สามารถรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 66 เนื่องจาก 1.เป็นรัฐบาลหมดสภาพ ขาดวิสัยทัศน์ ไร้ความรู้ความสามารถุ และพยายามเหนี่ยวรั้งที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป เพราะการทำงานในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาสถานการณืบ้านเมืองไม่ได้มีอะไรดีขึ้น รัฐบาลพยายามทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยด้วยพิธีกรรม และนายกรัฐมนตรีหลงตัวเอง ซึ่งจะเห็นกระแสความนิยมของรัฐบาลลดลงจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลหาเงินไม่เป็น ไม่ประนีประนอมกับประชาชน และ 2.เป็นรัฐบาลที่สร้างมรดกหนี้ เช่น หนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนสูงสุดในประวัติการณ์ หนี้เสีย (NPL) ขาดภาวะความเป็นผู้นำทั้งในประเทศและเวทีโลก ปล้นอำนาจประชาชน ขาดหลักนิติรัฐนิติธรรมทำให้ไม่ดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ

“ถ้าต้องการพาประเทศให้พ้นวิกฤตให้ได้ต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถร่วมมือได้ด้วยการไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.นี้ เพราะหากปล่อยงบประมาณปีนี้ผ่านไปจะเป็นกับดัก เราจึงอยากให้มีการจัดสรรงบประมาณใหม่”

นพ.ชลน่าน กล่าว

ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณปีนี้ไม่ได้เป็นไปตามแบบแผนที่เหมาะสม โดยเป็นงบประมาณขาดดุล ที่ต้องกู้เงิน 6.95 แสนล้านบาทจากเพดานเงินกู้ที่มีอยู่ 7.08 แสนล้านบาท ซึ่งมีโอกาสทำผิดวินัยการเงินการคลังเพราะเป็นการตกแต่งกรอบเพดานเงินกู้ให้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการจัดทำงบประมาณแบบสิ้นหวังเพราะจัดสรรไม่สอดคล้องกับลำดับความสำคัญ ซึ่งจะทำให้ประเทศเผชิญวิกฤต เช่น งบสนับสนุนเอสเอ็มอี งบฟื้นฟูด้านการศึกษา

“ภาคเอสเอ็มอีที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกลับถูกตัดงบประมาณแล้วไปเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคง”

นพ.ชลน่าน กล่าว

นอกจากนี้การจัดทำงบประมาณยังเอื้อประโยชน์หรือส่อโกง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นเหมือนกับถูกพรรคร่วมรัฐบาลเรียกค่าไถ่ต่อรองกับการสนับสนุนให้อยู่ในอำนาจต่อไป โดยใช้เงินภาษีของประชาชน การใช้งบกลุ่มจังหวัดก็บิดเบือนจากเดิมที่หวังตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่มาเป็นตอบสนองความต้องการของนักการเมือง

“เราอยากให้จัดทำงบประมาณโดยรัฐบาลใหม่ ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย…เราไม่อาจรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 66 เราอยากให้ตกไปเลย รอแก้ไขในชั้นกรรมาธิการก็ไม่ได้เกิดประโยชน์”

นพ.ชลน่าน กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top