นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า การส่งออกไทยเดือนเม.ย. 65 มีมูลค่า 23,521.4 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 10% จากตลาดคาด 14.6% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,429.8 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 21.5% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,908.4 ล้านเหรียญฯ
การส่งออกในเดือนเม.ย.ยังขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากการสู้รบในยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่ส่งผลต่อการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานการผลิต รวมถึงผลักดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ นอกจากนี้ ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายเมือง ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่อยู่เหนือระดับ 50 โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย เกาหลีใต้ และอาเซียน รวมทั้งมีความต้องการสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น จึงทำให้การส่งออกไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร
นอกจากนี้ ยังมีหลายปัจจัยที่เกื้อหนุนการส่งออกในอนาคต ได้แก่ การเร่งรัดการส่งออกข้าว, การขยายความร่วมมือกับตลาดการค้าใหม่ๆ, การลงนามในมินิเอฟทีเอ, การประชุมเจทีซีไทย-เวียดนาม, การเจรจาระดับทวิภาคี, การส่งเสริมการส่งออกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์, ภาคการผลิตโลกยังมีการเติบโต และเงินบาทอ่อนค่า
“แม้จะเจอวิกฤตหลายวิกฤตซ้อนกัน ทั้งปัญหาโควิด-19 สงครามการค้า ภาวะเศรษฐกิจ และสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ตัวเลขการส่งออกของไทยก็ยังเป็นบวก”
นายจุรินทร์ กล่าว
สำหรับการส่งออกช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.65) มีมูลค่ารวม 97,122.8 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 13.7% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวม 99,975.1 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 19.2% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 2,852.4 ล้านเหรียญฯ
ขณะที่สินค้าสำคัญ ที่มีการขยายตัวต่อเนื่องในเดือนเม.ย. ได้แก่
- สินค้าเกษตร ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง สินค้าสำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลัง ขยายตัว 49.5% ข้าว ขยายตัว 44% ซึ่งคาดว่าปีนี้จะส่งออกได้ 7-8 ล้านตัน สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ เงาะสด มังคุดสด และ มะม่วงสด
- สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่อง สินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัว 87.9% อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 24.7%
- สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่องเช่นกัน สินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ขยายตัว 53.2% อัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัว 48.5%
ขณะที่ตลาดส่งออกที่ขยายตัวได้ดี 10 อันดับแรก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เอเชียใต้ อาเซียน ตะวันออกกลาง แคนาดา ไต้หวัน แอฟริกา สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และ ฮ่องกง
นายจุรินทร์ กล่าวถึงภาวะการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวเลขส่งออกนั้น ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวม 313,882 ล้านบาท แม้ว่าจะลดลง โดยเป้าของการส่งออกผ่านการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนตั้งเป้าจะทำตัวเลขให้ได้ 1,082,897 ล้านบาท หรือโต 5% ซึ่ง 4 เดือนแรกของปีนี้ทำได้แล้วคิดเป็นประมาณ 30% ยังเหลือเวลาอีก 8 เดือน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะทำได้ตามเป้า
ทั้งนี้ ภาพรวมการค้าชายแดนยังถือเป็นบวกเกือบทุกประเทศ เฉพาะเดือน เม.ย.กัมพูชา ขยายตัว 31.36% เมียนมา ขยายตัว16% สปป.ลาว ขยายตัว 5.77% ภาพรวม 4 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 17.5%
แต่การค้าผ่านแดนในเดือนเม.ย. เวียดนามกับจีน ตัวเลขติดลบ ลดลง 45% เวียดนาม ลดลง 24.73% เป็นตัวเลขการส่งออกทางบก เพราะเวลาส่งสินค้าไปจีนต้องผ่านเวียดนามจึงติดลบไปด้วยกัน โดยได้หันไปส่งออกทางเรือและทางอากาศมากขึ้น เนื่องจากนโยบาย Zero Covid ของจีนและการปิดด่านเพราะโควิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาได้ดีทั้งเชิงรุกและเชิงลึก ตามนโยบายที่ตนมอบ ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางจากการส่งออกทางบกไปทางเรือและทางอากาศแทน
ส่วนกรณีที่บางประเทศไม่สามารถส่งออกอาหารได้จากการเกิด food protectionism นั้น สำหรับประเทศไทยยังไม่ได้เป็นปัญหา เนื่องจากสิ่งที่ประเทศต้นทางส่งออกไม่ใช่สินค้าที่เรานำเข้าในปริมาณที่มากนัก ไม่มีนัยยะสำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน มองว่า จะส่งผลดีกับประเทศไทย ที่เป็น hub of kitchen ทำให้เราส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า ที่คู่แข่งจากประเทศอื่นประสบปัญหาส่งออกไม่ได้
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประเมินสินค้าแต่ละตัวว่ามีสินค้าตัวไหนบ้างที่จะต้องลงไปจับตามอง ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ แต่ในภาพรวมยังไม่มีสินค้าตัวไหนที่น่าเป็นห่วงหรือเป็นปัญหา แต่หากจะมองลึกลงไปในแต่ละชนิดย่อย เป็นเรื่องของแต่ละกระทรวงที่ต้องเข้าไปดูในรายละเอียด ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 65)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, นำเข้า, ส่งออก, เศรษฐกิจไทย