ไทย-เวียดนาม หารือยกระดับราคาข้าวเพิ่มอำนาจต่อรองในตลาดโลก

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 และประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center: AIC) ได้หารือกับนายทรัน ทานห์ นาม (H.E. Mr. Tran Thanh Nam) รมช.เกษตรและพัฒนาชนบท สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการเกษตร ระหว่างไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในโอกาสที่รมช.เกษตรและพัฒนาชนบทฯ ได้เดินทางมาร่วมงาน “เทคโนโลยีเกษตรเอเชียและพืชสวนเอเชีย 2022 (Agritechnica Asia & Horti Asia 2022) ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนร่วมกับ German Agriculture Society (DLG)

ด้านนายทรัน ทานห์ นาม ได้หารือความร่วมมือในด้านต่างๆ ดังนี้ 1. ความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางเกษตร 2. การสร้างความเข้มแข็งให้แก่สหกรณ์การเกษตร ซึ่งฝ่ายเวียดนามเห็นว่าประเทศไทยมีสหกรณ์การเกษตรที่เข้มเข็งและมีชื่อเสียงด้านผลิตภัณฑ์ OTOP จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่มาดูงานด้านสหกรณ์ในประเทศไทย 3. การสนับสนุนให้เกษตรกรใช้เครื่องมือทางการเกษตรแทนแรงงานคน 4. การอบรมเกษตรกร และ 5. ความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary: SPS)

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ไทยยินดีให้การสนับสนุนเวียดนามในประเด็นดังกล่าว และเห็นว่าทั้งสองประเทศมีกลไกความร่วมมือด้านการเกษตร และ SPS ในรูปคณะทำงานร่วม ซึ่งสามารถเร่งรัดนัดหมายประชุม เพื่อเดินหน้าความร่วมมือในด้านต่างๆ ได้โดยเร็ว ทั้งนี้ มีประเด็นที่ขอความร่วมมือในการดำเนินการต่างๆ ได้แก่

1. เสนอให้กระชับความร่วมมือระหว่างเวียดนามกับไทยเรื่องข้าวตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อยกระดับราคาข้าวและเพิ่มรายได้ชาวนา เพราะกว่า 20 ปีที่ผ่านมาราคาข้าวในตลาดโลกต่ำมากวนเวียนอยู่ที่ 300-400 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในขณะที่ต้นทุนสูงขึ้นตลอดเวลา หากไทยและเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกร่วมมือกัน จะมีอำนาจต่อรองครองตลาดโลก เกษตรกรของทั้ง 2 ประเทศจะมีรายได้เพิ่มขึ้นพ้นจากความยากจนและหนี้สิน

2. เสนอให้เวียดนามสนับสนุนการจัดตั้งสภายางพาราอาเซียน (ASEAN RUBBER COUNCIL: ARCO) เพื่อร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา สนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยาง และเพิ่มอำนาจการต่อรองของกลุ่มอาเซียน

3. ขอให้ฝ่ายเวียดนามเร่งรัดการอนุญาตนำเข้ามะม่วงและเงาะจากไทย ตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันตั้งแต่ปี 2559 รวมทั้งการส่งออกลูกไก่และไข่ฟักพ่อแม่พันธุ์จากไทยไปเวียดนาม ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้นำประเด็นดังกล่าวไปหารือเพิ่มเติมในการประชุม SPS

4. เสนอเวียดนามพิจารณาจัดสรรคิวรถขนส่งผลไม้สด ซึ่งเป็นสินค้าเน่าเสียง่ายของไทย ที่จะผ่านด่านเวียดนามไปจีนเป็นกรณีพิเศษ เช่น ด่านโหยวอี้กวน ด่านตงชิง เป็นต้น

5. เสนอเพิ่มความร่วมมือด้านโลจิสติกส์การเกษตรระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม ผ่านท่าเรือหวุ่งอ๋าง (Vung Ang) และท่าเรือไฮฟอง ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขนส่งผลไม้และสินค้าเกษตรไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศอื่นๆ

6. ประเทศไทยสนใจที่จะเรียนรู้เรื่องโอค็อป (One Commune One Product: OCOP) ของเวียดนามเช่นกัน

7. ขอให้ฝ่ายเวียดนามเร่งแจ้งชื่อผู้ประสานงานหลัก (Contact Point) และจัดประชุม SPS ครั้งที่ 2

ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะให้นำเสนอประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมในภายหลังการหารือครั้งนี้ และเห็นควรให้มีการหารือในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ในคณะทำงานร่วมโดยเฉพาะในช่วงการจัดงาน Agritechnica ที่ฝ่ายเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนส.ค. 65 โดยเวียดนามแจ้งว่าจะมีหนังสือเชิญ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมงานดังกล่าวอย่างเป็นทางการโดยเร็วต่อไป

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top