SMD มั่นใจปีนี้รายได้เข้าเป้าแม้ยอดขายปลีก ATK ลดลง,ลุยเพิ่มตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ

นายวิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซนต์เมด (SMD) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงมั่นใจรายได้ปี 65 จะเติบโตตามเป้าหมาย 2,100 ล้านบาท แม้ยอดขายปลีกชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบเร่งด่วน (SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test) หรือ ATK อาจมีทิศทางปรับตัวลดลงหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง แต่อย่างไรก็ตาม ลูกค้าหลักของบริษัทอยู่ในกลุ่มของโรงพยาบาล และ มีบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศมากกว่า 200,000 คนที่ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้ตรวจก่อนที่จะเข้าทำการรักษา

นอกจากนี้ บริษัทยังได้มีการมุ่งเน้นการขยายการจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับใช้ที่บ้านด้วยตนเอง อาทิ เครื่องวัดความดันโลหิตแบบดิจิตอล เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย ปรอทวัดไข้ดิจิตอล วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น และในอนาคตจะมีการเพิ่มสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ Vending Machine

“แม้ว่ายอดขาย ATK จะมีทิศทางที่ปรับตัวลดลง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่คลี่คลายไป แต่อย่างไรก็ตามบริษัทยังได้มีการขยายธุรกิจในส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะด้านการจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับใช้ที่บ้านด้วยตนเองผ่านช่องทางตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ Vending Machine ยังมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อมั่นว่าผลประกอบการจะมีทิศทางเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในปีถัดๆไป”นายวิโรจน์ กล่าว

ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ติดตั้งตู้จำหน่ายสินค้าอั้ตโนมัติไปแล้ว 60 ตู้ ตามโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า จึงกำหนดเป้าหมายที่จะตั้งตู้เพิ่มอีก 100 ตู้ภายในปีนี้ และเตรียมจะเพิ่มอีกอย่างน้อย 1,000 ตู้ภายในปี 66 ในช่วงเริ่มต้นจะเน้นจุดติดตั้งในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 2,000 แห่ง

นายวิโรจน์ กล่าวว่า บริษัทมองว่ากลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับใช้ที่บ้านด้วยตนเองยังมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดว่ามูลค่าตลาดรวมจะสูงขึ้นถึงระดับ 100,000 ล้านบาทภายในระยะเวลา 2-3 ปี เป็นทิศทางเดียวกับตลาดในประเทศสหรัฐที่สินค้ากลุ่มนี้มีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยถึง 20 เท่า

ด้านธุรกิจเช่าใช้เครื่องมือแพทย์ (Leasing) รองรับความต้องการของภาครัฐ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งมูลค่าในช่วง 150-180 ล้านบาท หากชนะการประมูลจะต้องใช้งบลงทุนราว 150 ล้านบาท โดยมีสัญญาเช่า 3-5 ปี

ขณะที่ธุรกิจจำหน่ายเวชบำบัดวิกฤต (ICU) แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา 2 ปี จะมีการซื้อสินค้ากลุ่ม เครื่องช่วยหายใจไปจำนวนมากแล้ว แต่อย่างไรก็ตามยังมีผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์อื่นๆที่อยู่ในห้อง ICU อีกกว่า 20 ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทจำหน่ายอยู่ จำเป็นต้องมีการซื้อเพื่อที่จะทดแทนเครื่องมือแพทย์เดิมที่ครบอายุการใช้งาน คาดว่าจะเริ่มเห็นออกมาในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงของงบประมาณสำหรับปี 66 ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีงานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) มากกว่า 350 ล้านบาทคาดว่าจะรับรู้รายได้ทั้งหมดภายในเดือน ก.ย.65

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top