จากข่าวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งกรณีที่นักลงทุนถูกหลอกให้ลงทุนใน DeFi จากนั้นเจ้าของโปรเจ็คต์โอนเงินออกจนหมดและติดตามเงินคืนไม่ได้ (Rug Pull), การลากเหรียญ ด้วยการสร้างกระแสปั่นราคาเหรียญให้สูงเกินจริงเพื่อเทขายทิ้งทั้งโปรเจ็คต์ จนเหรียญแทบไม่เหลือมูลค่า (Crypto Pump-and-Dump Schemes), การหลอกระดมทุนโปรเจกโทเคนต่าง ๆ ว่าจะทำ ICO ก่อนจะเชิดเงินหนี, การแฮกเหรียญ ด้วยการเจาะเข้าแอคเคาท์เพื่อโอนเหรียญออกจาก wallet ทั้งหมด อย่างติดตามคืนไม่ได้, การกระทำผิดสัญญาให้บริการโดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี หรือแม้กระทั่งล่าสุดกรณีของเหรียญ LUNA ต่างก็มีวิธีดำเนินการเพื่อเยียวยาความเสียหาย ติดตามเหรียญคืน และติดตามหาตัวผู้กระทำความผิดที่แตกต่างกันไป โดยอาจพิจารณาเป็นกรณี ๆ โดยกว้างได้ ดังต่อไปนี้
คดีความทางแพ่ง – โดยการอนุญาโตตุลาการ หรือทางศาล
การกระทำผิดสัญญาเกี่ยวกับการให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี ถือเป็นเรื่องทางแพ่งที่จะต้องมาพิจารณาในสัญญาว่ากำหนดเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไว้อย่างไร หากข้อสัญญาเขียนไว้ว่าต้องไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน ผู้เสียหายก็ต้องไปยื่นฟ้องที่สถาบันอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ก่อน โดยจะไปเริ่มต้นฟ้องร้องคดีที่ศาลไม่ได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการกำหนดไว้ว่า การฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการตามสัญญาก่อนนั้น คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องอาจยื่นคำร้องต่อศาล และศาลมีอำนาจที่จะไม่รับฟ้อง จำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อนได้
แต่หากในสัญญาไม่ได้มีการกำหนดว่าต้องไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน ผู้เสียหายก็สามารถยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งที่มีเขตอำนาจได้โดยตรง
คดีผู้บริโภค รวมถึงการฟ้องคดีแบบกลุ่ม
คดีผิดสัญญาให้บริการระหว่างผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีกับเจ้าของแพลตฟอร์ม ถือเป็นคดีผู้บริโภค เนื่องจากเป็นคดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจที่พิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือใช้บริการ โดยในการฟ้องคดีผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการจะได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลทั้งปวงตั้งแต่ยื่นฟ้องตลอดจนการดำเนินกระบวนการทางศาลเสร็จสิ้น
นอกจากนี้ หากมีผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาใช้บริการแพลตฟอร์มเป็นจำนวนมาก และได้รับความเสียหายอันสืบเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกัน (มีสิทธิเรียกร้อง สภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่เหมือนกัน) จนก่อให้เกิดลักษณะเฉพาะของกลุ่มบุคคลเหมือนกัน แม้ว่าแต่ล่ะคนจะได้รับความเสียหายในจำนวนที่แตกต่างกัน ก็สามารถขอให้ศาลดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือที่เรียกว่า Class Action ได้
ทั้งนี้ ข้อดีของการดำเนินคดีผู้บริโภคแบบกลุ่ม ก็ได้แก่ มีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะฟ้องคดีเอง) รวมถึงการันตีว่าผลของคดีจะเป็นอย่างเดียวกัน อีกทั้ง ยังเป็นการเพิ่มอำนาจในการต่อรองให้กับผู้เสียหายรายย่อยอีกด้วย
คดีความทางอาญา
การกระทำความผิดทางอาญาที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ได้แก่ การหลอกให้ลงทุนในเหรียญหรือโทเคนต่าง ๆ แล้วเจ้าของโปรเจ็คต์เทขายเหรียญก่อนเชิดเงินหนี หรือเจ้าของแพลตฟอร์ม DeFi ปิดแพลตฟอร์มหนีเพื่อโกงเงินลงทุน อันถือได้ว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน โดยมุ่งใช้วิธีการต่าง ๆ ในการหลอกลวง ทำให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อตามคำหลอกลวง เพื่อให้ได้ทรัพย์ของผู้ถูกหลอกลวง อันเป็นองค์ประกอบ ‘ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน’ ตามประมวลกฎหมายอาญา นอกจากนี้ยังอาจเข้าองค์ประกอบความผิดอื่นๆ เช่น ความผิดตาม พรบ. คอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฯลฯ แล้วแต่กรณี
โดยหากเหยื่อที่ถูกหลอกลวง รู้ตัวผู้กระทำความผิดและประสงค์จะฟ้องคดีต่อศาลเอง ก็สามารถฟ้องคดีต่อศาลอาญาได้ แต่โดยปกติแล้วอาชญกรรมทางออนไลน์ มักไม่ปรากฎตัวผู้กระทำความผิด จึงต้องเริ่มต้นคดีด้วยการแจ้งความต่อศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศปอส.ตร. (Police Cyber Taskforce : PCT) หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า “ตำรวจไซเบอร์” เพื่อติดตามเหรียญ และหาตัวผู้กระทำความผิดต่อไป
หากคดีมีลักษณะเป็นคดีอาชญากรรมพิเศษ คือเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการฉ้อโกงประชาชน หรือการประกอบธุรกิจเงินทุน/หลักทรัพย์ หรือการคุ้มครองผู้บริโภค หรือการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่มีลักษณะเข้าเงื่อนไขว่า ‘มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวน สอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ’ หรือ ‘อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ’ หรือ ‘เป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญ หรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม’ ก็สามารถแจ้งเบาะแส/เรื่องราวร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้
ถือเหรียญ LUNA ทำยังไงดี?
กรณีเหรียญ LUNA ซึ่งเป็นประเด็นร้อนในวงการคริปโทฯ ในขณะนี้ เบื้องต้นยังไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นกรณีที่เหรียญมีราคาลดลงอย่างรวดเร็วจนแทบไม่เหลือมูลค่าภายในระยะเวลาอันสั้น อันเนื่องมาจากถูกโจมตี และกลไกทางการตลาดที่ผู้ลงทุนเกิดความกังวล จนเทขายเหรียญออกเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวถือว่ามีความผิดปกติและก่อให้เกิดความเสียหายต่อคนจำนวนมากทั่วโลก อันเป็นเหตุให้ต้องมีการสืบสวนกันต่อไปว่าจะเข้าข่ายการกระทำความผิดทางแพ่ง ทางอาญา กฎหมายเฉพาะอื่น ๆ หรือกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ในเบื้องต้นผู้ถือเหรียญ LUNA จึงอาจติดต่อไปยังเจ้าของแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีที่ใช้บริการอยู่เพื่อให้ช่วยติดตามและประสานงานเกี่ยวกับเรื่องการดำเนินคดีต่อกรณีดังกล่าวต่อไป
นางสาวดุษดี ดุษฎีพาณิชย์ ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านนิติกรรมสัญญา และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ค. 65)
Tags: Cryptocurrency, Decrypto, LUNA, คริปโทเคอร์เรนซี