ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการเพิ่มขีดความสามารถด้านพลังงานหมุนเวียนของสหภาพยุโรป (EU) รวมถึงการลดพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซีย ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า อาจจะต้องใช้โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่มีอยู่ต่อไปนานกว่าที่คาดการณ์ไว้
เอกสารที่ระบุถึงเป้าหมายของ EC ในโครงการที่ชื่อว่า REPowerEU ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพุธ (18 พ.ค.) ได้ย้ำถึงความสำคัญของการประหยัดพลังงาน การนำเข้าพลังงานจากหลากหลายแหล่ง และการเร่งดำเนินการขั้นตอนที่เรียกว่า “การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดของยุโรป”
ทั้งนี้ EC คาดว่า แผนการดังกล่าวจะใช้งบลงทุนพิเศษวงเงิน 2.1 แสนล้านยูโร (2.2087 แสนล้านดอลลาร์) ในช่วงปี 2565-2570
สำหรับสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในสหภาพยุโรปนั้น EC เสนอให้เพิ่มจากเป้าหมายปัจจุบันที่กำหนดไว้ที่ 40% เป็น 45% ภายในปี 2573
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ข้อเสนอของ EC มีขึ้นในวันเดียวกับที่รัฐบาลของเดนมาร์ก เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียมระบุว่า จะวางเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งรวมกันให้ได้อย่างน้อย 65 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 150 กิกะวัตต์ภายในกลางศตวรรษนี้
ความปรารถนาของ EU ที่จะลดพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียนั้นหมายความว่า EU จะต้องหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากที่อื่นเพื่อชดเชยส่วนที่ขาดหายไป
ทั้งนี้ EC ระบุว่า อาจต้องใช้งบลงทุนมากถึง 1.5-2 พันล้านยูโร เพื่อรักษาระดับอุปทานน้ำมัน และต้องใช้งบอีกราว 1 หมื่นล้านยูโรเพื่อนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และวางท่อส่งก๊าซจากแหล่งอื่น ๆ ภายในปี 2573
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 65)
Tags: REPowerEU, ถ่านหิน, พลังงานหมุนเวียน, ยุโรป, รัสเซีย, โรงไฟฟ้าถ่านหิน