นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/63 ระบุว่า ผลกระทบโควิด-19 ยังไม่สะท้อนในไตรมาสที่ 1 โดยการจ้างงานลดลงต่อเนื่อง แต่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย รายละเอียดดังนี้
ผู้มีงานทำ 37,424,214 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.7% จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลง 3.7% ซึ่งได้รับผลกระทบจำกปัญหาภัยแล้งที่มีควานรุนแรงและต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 62 ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมยังคงขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 0.5% จากการขยายตัวของการจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคารและสาขาการศึกษา
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่แสดงผลกระทบในจำนวนการจ้างงานภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมากนักส่วนหนึ่งเนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม-ต้นมีนาคม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ และผู้ประกอบการยังรอดูสถานการณ์ของผลกระทบ
อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณของผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่อการจ้างงาน คือ ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยภาคเอกชนลดลงเท่ากับ 42.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ จาก 43.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไป/สัปดาห์ ลดลง 9.0% นอกจากนั้น สถานประกอบการมีการขอใช้มาตรา 75 ในการหยุดกิจการชั่วคราวจำนวนทั้งสิ้น 570 แห่ง และมีแรงงานที่ต้องหยุดงานแต่ยังได้รับเงินเดือน 121,338 คน ผู้ว่างงานมีจำนวน 394,520 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.03% เพิ่มขึ้นจาก 0.92% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว สอดคล้องกับจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานที่ในไตรมาส 1/63 มีจำนวน 170,144 คน เพิ่มขึ้น 3% และมีผู้ว่างงานแฝงจำนวน 448,050 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานแฝง 1.2% เพิ่มขึ้น 17.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ค่าจ้างที่แท้จริงภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 3.2% ผลิตภาพแรงงานลดลง 1.0% เป็นการลดลงจากทั้งภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม
นายทศพร คาดว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีผลกระทบค่อนข้างมากในไตรมาส 2/63 ทั้งเรื่อของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่อาจมีผลต่อการว่างงาน ซึ่งคงต้องรอดูข้อมูลก่อน
สำหรับปัจจัยปัจจัยที่กระทบต่อการจ้างงาน ในปี 63 นายทศพร กล่าวว่า จากการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงาน พบว่า แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
(1) แรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน (ไม่รวมสาขาการค้าส่ง และการค้าปลีก) จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 2.5 ล้านคน
(2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะได้รับผลกระทบตั้งแต่ก่อนโควิด-19 จากสงครามการค้าและต่อเนื่องมาจนถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการลดลงของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม บางอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าขายในประเทศยังขยายตัวได้ เช่น อุตสากรรมอาหารและเครื่องดื่ม หรือของใช้ที่จำเป็น รวมทั้งอุตสากรรมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน
(3) การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวในกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐจากการปิดสถานที่ เช่น สถานศึกษา หรือสถานที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก เช่น ตลาดสด สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า ซึ่งกลุ่มนี้มีการจ้างงานจำนวน 10.3 ล้านคน คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน
นอกจากนี้ ผลกระทบจากภัยแล้งตั้งแต่กลางปี 62 และต่อเนื่องถึงไตรมาส 1/63 ส่งผลให้การจ้างงานภาคเกษตรลดลง และมีจำนวนแรงงานที่รอฤดูกาล 370,000 คน สูงที่สุดในรอบ 7 ปี โดย ณ เดือนเมษายน ได้มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 26 จังหวัด และมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบประมาณ 3.9 ล้านคน และเกษตรกรในพื้นที่อื่นที่มีปริมาณน้ำน้อยและไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเกษตรก็ได้รับผลกระทบอีกจำนวน 2.1 ล้านคน รวมเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั้งสิ้น 6 ล้านคน
“ผลกระทบของโควิด-19 และปัญหาภัยแล้งต่อการจ้างงาน การว่างงาน จะปรากฏผลชัดเจนเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาส 2 และชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี”
อย่างไรก็ตาม ในปี 63 คาดว่า อัตราการว่างงานจะอยู่ในช่วง 3-4% หรือตลอดทั้งปีมีว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดเริ่มควบคุมได้และในครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคมเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทสามารถเปิดดำเนินการได้มากขึ้น
อีกทั้ง รัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเน้นกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และภาคเกษตรกรรมจะสามารถรองรับแรงงานที่ว่างงานได้บางส่วนแม้ว่าจะมีปัญหาภัยแล้ง
นายทศพร ระบุว่า ต้องจับตาแรงงานจบใหม่ที่คาดว่าอยู่ที่ 5.2 แสนคนต่อปี อาจจะไม่มีตำแหน่งรองรับได้ทั้งหมด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดี แต่คาดว่าพ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทในการฟื้นฟู เยียวยาเศรษฐกิจจะมีการจ้างงาน สร้างงานให้กับนักศึกษาได้
ขณะที่ หนี้ครัวเรือนชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน แต่คุณภาพสินเชื่อแย่ลง โดยในไตรมาส 4/62 สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย มีมูลค่า 13.47 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.0% ชะลอลงจาก 5.5% ในไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการปรับตัวลดลงในสินเชื่อทุกประเภท ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 79.8% สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/59 เป็นต้นมาเนื่องจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องและเร็วกว่าการชะลอตัวของหนี้สินครัวเรือน
ด้านภาพรวมคุณภาพสินเชื่อด้อยลง โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/63 มีมูลค่า 156,227 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.23% ต่อสินเชื่อรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.90% ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากความสามารถในการชำระหนี้ของสินเชื่อทุกประเภทด้อยลง โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น ๆ ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบทางลบอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร โดยภาครัฐได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผ่านหลายช่องทาง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 63)
Tags: ทศพร ศิริสัมพันธ์, ท่องเที่ยว, ว่างงาน, สภาพัฒน์, อุตสาหกรรม