In Focus: สำรวจเส้นทางฟินแลนด์-สวีเดนขอเป็นสมาชิกนาโต แค่เริ่มก็ถูกขวางเสียแล้ว

สงครามรัสเซีย-ยูเครนซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์นั้นยังคงดุเดือดจนถึงทุกวันนี้ และกลายเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบมากกว่าสองประเทศแล้ว โดยเมื่อไม่กี่วันนี้ ฟินแลนด์และสวีเดนได้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) ซึ่งนับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศหลังจากที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมานาน

 

ประชาชนหวั่นศึกเข้าบ้าน บีบรัฐบาลเลือกข้าง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (15 พ.ค.) รัฐบาลฟินแลนด์ออกแถลงการณ์ว่า ฟินแลนด์จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต แม้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญความขัดแย้งกับรัสเซียก็ตาม โดยฟินแลนด์มีชายแดนยาว 1,340 กิโลเมตรติดกับรัสเซีย

นายเซาลี นีนิสเตอ ประธานาธิบดีฟินแลนด์ และนางซานนา มาริน นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนร่วมกันในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ฟินแลนด์จะสมัครเป็นสมาชิกของนาโต เนื่องจากเชื่อว่า การเป็นพันธมิตรกับนาโตจะเพิ่มศักยภาพขั้นสูงสุดด้านความมั่นคงให้กับฟินแลนด์ หลังจากที่รัสเซียใช้กำลังทหารบุกโจมตียูเครนในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงสนับสนุนของสาธารณชนอันเนื่องมาจากการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน

ขณะเดียวกัน พรรคสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของสวีเดน ก็ได้สนับสนุนการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต และนายกฯ สวีเดนได้กล่าวว่า การเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตคือ “สิ่งที่ดีที่สุด” สำหรับสวีเดน โดยก่อนหน้านี้สวีเดนไม่เข้าร่วมสงครามใด ๆ นับตั้งแต่สงครามนโปเลียนในศตวรรษที่ 19 ซึ่งครั้งนั้นสวีเดนต้องเสียดินแดนไป จากนั้นสวีเดนได้วางตัวเป็นกลางในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศมาโดยตลอด

การที่ฟินแลนด์และสวีเดนตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกของนาโตถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ทั้งสองชาติ เพราะฟินแลนด์ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมาหลายทศวรรษแล้ว ขณะที่สวีเดนเองก็ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมานานถึงสองศตวรรษ แต่การที่รัสเซียบุกยูเครนทำให้ทั้งสองประเทศหันมาพิจารณาเรื่องความมั่นคงใหม่ และมองว่าการร่วมเป็นสมาชิกนาโตจะทำให้รัสเซียมีท่าทีแข็งกร้าวลดลง

ฟินแลนด์มีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่าในการเข้าเป็นสมาชิกนาโต เพราะมีชายแดนติดกับรัสเซียเป็นหลักพันกิโลเมตร ทั้งยังเคยมีประสบการณ์ตรงมาแล้วเมื่อสมัยปี 2482 ซึ่งขณะนั้นสหภาพโซเวียตบุกโจมตีฟินแลนด์ จึงทำให้ชาวฟินแลนด์ตื่นตัวและกังวลว่าสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นกับประเทศของตนอีก ในขณะที่ชาวสวีเดนมีความคิดเห็นค่อนข้างต่างกันในเรื่องนี้ แถมยังมีท่าทีไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ถึงอย่างนั้นการที่รัสเซียบุกยูเครนก็ทำให้สวีเดนตัดสินใจลงเรือลำเดียวกับฟินแลนด์

 

นาโตคืออะไร

นาโต หรือองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ เป็นพันธมิตรทางการทหารในการป้องกันตนเอง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2492 โดยมีสมาชิกก่อตั้ง 12 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

เมื่อสมาชิกนาโตถูกโจมตีด้วยอาวุธ สมาชิกรายอื่น ๆ ก็จำเป็นต้องเข้ามาช่วย โดยในสมัยที่ก่อตั้งนั้น นาโตมีขึ้นเพื่อสกัดการขยายอิทธิพลของรัสเซียหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ปัจจุบัน นาโตมีสมาชิก 30 ประเทศ ซึ่งนอกเหนือจาก 12 ประเทศข้างต้นแล้วยังมีแอลเบเนีย บัลแกเรีย โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ก เอสโตเนีย เยอรมนี กรีซ ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอนเตเนโกร มาซิโดเนียเหนือ โปแลนด์ โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย สเปน และตุรกี

ขั้นตอนการสมัครและเป็นสมาชิกนาโตนั้นอาจใช้เวลาถึงหนึ่งปี และสมาชิกทุกประเทศจำเป็นต้องยอมรับเหมือนกันหมดในการรับสมาชิกใหม่

หากประเทศใดประเทศหนึ่งต้องการเป็นสมาชิกนาโต ประเทศนั้นจำเป็นต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ดูแลชนกลุ่มน้อยด้วยความยุติธรรม และมุ่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ ทั้งยังต้องให้การสนับสนุนทางการทหารแก่นาโตด้วย

ฟินแลนด์และสวีเดนผ่านคุณสมบัติข้างต้นทั้งหมด และยังมีแสนยานุภาพทางทหารอย่างแข็งแกร่งด้วย โดยสมาชิกนาโตได้ตกลงกันว่าจะจัดสรรงบ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไปกับการป้องกันประเทศ ซึ่งฟินแลนด์บรรลุเป้าหมายนี้ไปแล้ว ขณะที่สวีเดนให้คำมั่นเพื่อเร่งให้ถึงเกณฑ์นี้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

หนทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

อย่างไรก็ดี หลังฟินแลนด์และสวีเดนประกาศความตั้งใจเข้าร่วมสมาชิกนาโตได้ไม่นาน ตุรกี ซึ่งเป็นสมาชิกนาโตเช่นกัน ได้ออกตัวขัดขวางไม่ให้สองประเทศนี้ร่วมเป็นสมาชิกแล้ว โดยประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี กล่าวว่า เขาไม่สนับสนุนให้ฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วมนาโต โดยคาดว่าตุรกีจะใช้สิทธิวีโตการรับฟินแลนด์และสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกนาโต

นายเมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ได้คัดค้านการขอเข้าร่วมนาโตของทั้งสองชาติเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาอย่างเหนือความคาดหมาย โดยนายคาวูโซกลูระบุว่า เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้และน่าหวาดหวั่น เนื่องจากฟินแลนด์และสวีเดนสนับสนุนกองกำลังชาวเคิร์ดที่เป็นเครือข่ายของพรรคเคอร์ดิสถาน เวิร์คเกอร์ส พาร์ตี หรือ พีเคเค ซึ่งตุรกีมองว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย ทั้งยังให้ที่พักพิงแก่กลุ่มผู้ติดตามนายเฟตุลเลาะห์ กูเลน ซึ่งรัฐบาลตุรกีกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อปี 2559 ด้วย

ต้องอย่าลืมว่า การจะเป็นสมาชิกนาโตได้นั้น สมาชิกนาโตทุกชาติจะต้องให้การยอมรับเหมือนกันทั้งหมดจึงจะรับสมาชิกใหม่ได้ ไม่ได้เป็นการโหวตเอาเสียงข้างมากเหมือนการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งหากมีสมาชิกคัดค้านแล้ว นาโตก็จะรับสมาชิกใหม่ไม่ได้ แม้สมาชิกที่คัดค้านจะมีชาติเดียวก็ตาม

ผู้นำตุรกีกล่าวว่า ฟินแลนด์และสวีเดน “ไม่มีทัศนคติที่เปิดกว้างและชัดเจนเกี่ยวกับองค์กรก่อการร้าย แล้วเราจะเชื่อใจพวกเขาได้อย่างไร” ทั้งยังบอกให้ฟินแลนด์และสวีเดนล้มเลิกความคิดที่จะทำให้ตุรกียอมรับไปได้เลย โดยฟินแลนด์และสวีเดนจำเป็นต้องคว้าใจตุรกีให้ได้เพื่อเข้าร่วมนาโต

นอกเหนือจากฟินแลนด์และสวีเดนแล้ว รัฐบาลตุรกียังได้ประกาศคำมั่นที่จะคัดค้านการเปิดรับสมาชิกใหม่ของนาโต หากประเทศที่สมัครร่วมเป็นสมาชิกนั้นเคยคว่ำบาตรตุรกีมาก่อน

ฟินแลนด์และสวีเดนเคยมีคำสั่งห้ามซื้อขายอาวุธกับตุรกีมาก่อนแล้วเมื่อปี 2562 เพื่อตอบโต้การที่ตุรกีจู่โจมซีเรีย แถมยังเคยปฏิเสธคำขอจากตุรกีในการส่งตัวกองกำลังชาวเคิร์ดในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนด้วย จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจนักที่ตุรกีจะรู้สึกแอบเคืองจนเป็นเหตุให้คัดค้านการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต

ด้านเพกกา ฮาวิสโต รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ ก็ได้ออกมาตอบโต้ประเด็นนี้ โดยเปิดเผยว่าฟินแลนด์รู้สึกประหลาดใจที่ตุรกีคัดค้าน แต่ฟินแลนด์ก็ไม่สนใจที่จะต่อรองอะไรกับประธานาธิบดีตุรกี แต่ถึงอย่างนั้นก็มีรายงานข่าวว่า ทั้งฟินแลนด์และสวีเดนได้ส่งตัวแทนไปเจรจาที่กรุงอังการาของตุรกีแล้ว แม้ประธานาธิบดีตุรกียังไม่เปิดช่องให้เจรจาต่อรองก็ตาม

 

สหรัฐเสนอตัวช่วยคุยตุรกี

แม้การที่ตุรกีคัดค้านการรับฟินแลนด์และสวีเดนเป็นสมาชิกนาโตจะเป็นอุปสรรคสำคัญ แต่ตุรกีก็เหมือนหัวเดียวกระเทียมลีบ เพราะสมาชิกประเทศอื่น ๆ ยินดีให้ฟินแลนด์และสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกนาโตกันทั้งนั้นเพื่อสกัดอิทธิพลของรัสเซีย โดยจุดประสงค์ในการก่อตั้งนาโตตั้งแต่แรกเริ่มคือเพื่อต้านทานอิทธิพลของรัสเซีย สมาชิกของนาโตจึงมีอุดมการณ์ต่อต้านรัสเซียเป็นทุนเดิมกันอยู่แล้ว และไม่อยากให้ฟินแลนด์และสวีเดนผิดหวังกลับบ้าน

ล่าสุดโฆษกทำเนียบขาวของสหรัฐเปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐมีความเชื่อมั่นว่า นาโตจะบรรลุฉันทามติในการอนุมัติให้ฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต แม้มีเสียงคัดค้านจากตุรกี โดยนางแครีน ฌ็อง-ปิแอร์ โฆษกทำเนียบขาวกล่าวว่า “เรามีความมั่นใจว่านาโตจะบรรลุฉันทามติในการอนุมัติสมาชิกภาพให้แก่ฟินแลนด์และสวีเดน เรารู้ว่ามีเสียงสนับสนุนจำนวนมากให้ฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต”

ทางด้านนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่า เขาได้สนทนากับรัฐมนตรีต่างประเทศของตุรกีแล้ว และคาดว่าตุรกีจะให้ความเห็นชอบต่อการที่ฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐเตรียมเปิดทำเนียบขาวต้อนรับผู้นำฟินแลนด์และสวีเดนในวันพฤหัสบดีนี้ (19 พ.ค.) และจะมีการหารือกันเกี่ยวกับการที่ทั้งสองประเทศจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต

ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเชื่อว่า ในที่สุดแล้วตุรกีจะยอมให้ฟินแลนด์และสวีเดนเป็นสมาชิกนาโตได้ โดยตุรกีอาจจะไม่ได้สิ่งที่ตนเองต้องการเป๊ะ ๆ แต่ชาติพันธมิตรก็น่าจะมีข้อเสนออะไรที่ทดแทนจนทำให้ตุรกีพอใจได้ และที่ผ่านมานั้น ตุรกีก็สนับสนุนให้นาโตรับสมาชิกเพิ่มมาตลอด

ผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยว่า ตุรกีจะยอมเจรจาโดยเน้นผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก และจะยอมทำตามฉันทามติของนาโตแต่โดยดี แต่จะต้องมีเงื่อนไขอย่างแน่นอน ซึ่งสหรัฐจะเข้ามามีส่วนช่วยในส่วนนี้ได้โดยตรง

เมนซูร์ อัคกัน ศาสตราจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยคูลทูร์ของตุรกี เปิดเผยกับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า ตุรกีหยิบประเด็นฟินแลนด์และสวีเดนมาเป็นเครื่องมือต่อรองกับสหรัฐ ซึ่งมีประเด็นกับตุรกีด้วยเช่นกัน โดยตุรกีถูกสหรัฐคว่ำบาตรเกี่ยวกับเครื่องบินขับไล่ F-35 นอกจากนี้ ตุรกียังประณามสหรัฐที่สนับสนุนกลุ่มกองกำลังชาวเคิร์ดในซีเรียด้วย

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 สหรัฐได้ถอดตุรกีออกจากโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ F-35 ไม่กี่วันหลังตุรกีรับขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน S-400 จากรัสเซีย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับสหรัฐย่ำแย่ลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

สหรัฐและชาติพันธมิตรในกลุ่มนาโตมองว่า การที่สมาชิกนาโตใช้ระบบป้องกันขีปนาวุธของรัสเซียเป็นภัยต่อระบบป้องกันของนาโตเอง แต่ตุรกีได้ออกมาตอบโต้ว่า ตุรกีตัดสินใจซื้อระบบดังกล่าวจากรัสเซียเพราะสหรัฐหยุดขายระบบป้องกันภัยทางอากาศที่สมาชิกนาโตใช้กันเป็นส่วนใหญ่ให้กับตุรกี

นอกจากนี้ เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการคัดค้านการเปิดรับสมาชิกใหม่เข้านาโต โดยกรีซก็เคยขวางไม่ให้มาซิโดเนียเป็นสมาชิกนาโตมาหลายปีเพราะพิพาทกันเรื่องชื่อประเทศ จนมาซิโดเนียต้องเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นมาซิโดเนียเหนือ จากนั้นกรีซจึงถอนคำคัดค้านและมาซิโดเนียเหนือก็ได้เป็นสมาชิกนาโตจนถึงทุกวันนี้

เมื่อดูความเป็นไปได้ทั้งหมดนี้แล้ว หลายฝ่ายจึงคลายกังวลและเชื่อมั่นว่าฟินแลนด์และสวีเดนจะได้เป็นสมาชิกนาโตในท้ายที่สุด

 

ท่าทีของรัสเซีย

ทางด้านประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า การที่ฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตจะไม่เป็นภัยคุกคามต่อรัสเซียแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ปธน.ปูตินเตือนว่า รัสเซียพร้อมตอบโต้ หากพบว่ามีการตั้งฐานทัพทางทหารในดินแดนของทั้งสองประเทศ หลังเป็นสมาชิกนาโต

นอกจากนี้ นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวเช่นกันว่า การที่ฟินแลนด์และสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกนาโตจะไม่สร้างความแตกต่างมากนักเมื่อเทียบกับก่อนเป็นสมาชิก เนื่องจากทั้งสองประเทศก็ได้เคยร่วมซ้อมรบกับนาโตมาก่อนแล้ว

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวดูอ่อนนุ่มลงอย่างมาก หลังก่อนหน้านั้นไม่นาน ทำเนียบเครมลินเปิดเผยถึงคำกล่าวของปธน.ปูตินในการประชุมองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (CSTO) ระบุว่า รัสเซียจะตอบโต้อย่างแน่นอน หากมีการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางทหารในประเทศดังกล่าว โดยจะขึ้นอยู่กับชนิดของภัยคุกคามที่มีต่อรัสเซีย

ปธน.รัสเซียระบุด้วยว่า ประเด็นการขยายนาโตนั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องเท็จ โดยสหรัฐใช้เป็นเครื่องมือด้านนโยบายต่างประเทศ และกล่าวเสริมว่า “นาโตกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือของประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง มีความเชี่ยวชาญ และเป็นไปในเชิงรุกอย่างมาก” นอกจากนี้ ปธน.ปูตินยังเปิดเผยว่า สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การที่ปธน.ปูตินมีท่าทีที่อ่อนลง เนื่องจากรัสเซียมีความสามารถตอบโต้ฟินแลนด์และสวีเดนต่อกรณีนี้ไม่มากนัก ขณะที่รัสเซียไม่ต้องการเผชิญหน้าโดยตรงกับนาโต รวมทั้งการที่กองทัพรัสเซียเองก็กำลังติดพันอยู่กับการทำสงครามในยูเครน

 

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีเซาลี นีนิสเตอ แห่งฟินแลนด์ และนายกรัฐมนตรีแมกดาเลนา แอนเดอร์สสัน แห่งสวีเดน เตรียมยื่นสมัครขอเป็นสมาชิกนาโตอย่างเป็นทางการที่สำนักงานใหญ่ของนาโตในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมในวันนี้ (18 พ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น

ปธน.ฟินแลนด์แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ก่อนหน้านี้ ฟินแลนด์และสวีเดนเคยคิดว่าการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดคือกุญแจสู่ความมั่นคง แต่ก็เปลี่ยนใจเมื่อรัสเซียห้ามไม่ให้ทั้งสองประเทศสมัครเป็นสมาชิกนาโต โดยกล่าวว่า “สิ่งนี้หมายความว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง” และหลังรัสเซียบุกยูเครน “ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เราต้องทำอะไรต่อ”

คงต้องรอดูกันต่อไปว่า หนทางข้างหน้าสำหรับฟินแลนด์และสวีเดนจะเป็นอย่างไร ตุรกีจะยอมหรือไม่ หรือจะมีสมาชิกชาติอื่นมาคัดค้านอีก แล้วจะใช้เวลาอีกนานแค่ไหนกว่าจะได้เป็นสมาชิกนาโตสมใจ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top