นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน และมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 65 ว่า กทม. ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ปี 65 รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ และเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ กทม. โดยดำเนินการติดตั้งและตรวจสอบเครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งตามบ่อสูบน้ำต่างๆ เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องสูบน้ำสำรอง เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักรกล เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง และเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต)
นอกจากนี้ ได้ตรวจสอบและบำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 244 แห่ง ให้พร้อมใช้งาน ลดระดับน้ำตามคูคลองให้อยู่ในระดับต่ำ ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อรองรับสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพตลอด 24 ชั่วโมง ส่งหน่วยปฏิบัติงานเร่งด่วน (Best) เฝ้าระวังประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วมและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรองให้พร้อมใช้งานได้ทันที
สำหรับการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำไหล อาทิ ขยะ วัชพืชในลำน้ำคูคลอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ กทม. ได้จัดทำแผนรักษาความสะอาดคลองโดยครอบคลุมทุกคูคลอง แหล่งน้ำ และแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับคลองสายหลักที่มีความสำคัญต่อการระบายน้ำหรือคลองสำคัญ เพื่อการอนุรักษ์หรือท่องเที่ยว โดยจะใช้เรือเก็บขยะและแรงงานทำการจัดเก็บขยะ วัชพืช ผักตบชวาเป็นประจำทุกวัน ได้แก่ คลองผดุงกรุงเกษม คลองโอ่งอ่าง คลองบางซื่อ คลองลาดพร้าว คลองภาษีเจริญ คลองสนามชัย
ส่วนคลองที่เรือไม่สามารถสัญจรได้ เนื่องจากสภาพพื้นที่แคบ มีอุปสรรคกีดขวาง จะใช้แรงงานเดินเท้าข้างคลองจัดเก็บขยะและวัชพืช นำขึ้นรถบรรทุกไปทิ้งทำลายที่โรงงานกำจัดขยะมูลฝอย รวมถึงการจัดเก็บขยะและวัชพืชบริเวณหน้าตะแกรงกันขยะของสถานีสูบน้ำต่างๆ
ในส่วนของคลองที่มีความสำคัญในการระบายน้ำรองลงมา และมีจำนวนมาก เพื่อจัดเก็บขยะวัชพืชให้ครอบคลุมทุกคลอง จะมีรอบการเข้าปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 3 รอบต่อปี และได้จัดเตรียมหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ให้สามารถแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในการเก็บขยะวัชพืช รวมถึงสิ่งกีดขวางทางน้าต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนแก่ประชาชน อาทิ คลองนาซอง คลองไผ่สิงโต คลองสะแกงาม คลองเลนเปน
นอกจากนี้ ได้จัดหาอุปกรณ์การปฏิบัติงานอย่างเหมาะสมและทันสมัย อาทิ รถงับผักตบชวา เรือเก็บกำจัดวัชพืชผักตบชวา รวมถึงมาตรการเสริมต่างๆ อาทิ การสร้างแพดักขยะ การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการรักษาความสะอาดคลอง และมาตรการด้านประชาสัมพันธ์ต่างๆ ดำเนินการลอกท่อระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาจุดอ่อนน้ำท่วม และการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในถนนสายหลักในพื้นที่ กทม.
ทั้งนี้ กทม. เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีปัญหาน้ำท่วมขัง หรือที่เรียกว่าน้ำรอระบายอยู่หลายแห่ง โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สำนักการระบายน้ำ ซึ่งมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการระบายน้ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 64 มีจุดเสี่ยงน้ำท่วม จำนวน 12 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม จำนวน 47 จุด
อย่างไรก็ดี สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินโครงการก่อสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทำให้สามารถปรับลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมเป็นจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม จำนวน 3 จุด ได้แก่ 1. ถนนจันทน์ ช่วงจากซอยบำเพ็ญกุศล ถึงที่ทำการ ไปรษณีย์ยานนาวา 2. ถนนสาธุประดิษฐ์ บริเวณแยกตัดถนนจันทน์ และ 3. ถนนบางขุนเทียน – ชายทะเล ช่วงจากถนนพระรามที่ 2 ถึงคลองสะแกงาม
ขณะเดียวกัน สามารถลดจำนวนจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมลง 2 จุด ได้แก่ 1. ถนนสุวินทวงศ์ จากหน้าการไฟฟ้ามีนบุรี ถึงแยกราษฎร์อุทิศ และ 2. ถนนเอกชัย บริเวณปากซอย เอกชัย 56 (หน้าบริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดง)
ดังนั้น ทำให้ในปี 65 กทม. มีจุดเสี่ยงน้ำท่วม จำนวน 9 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม จำนวน 48 จุด ปัจจุบัน สำนักการระบายน้ำมีแผนงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 65 จำนวน 32 โครงการ ซึ่งจะครอบคลุมจุดเสี่ยงน้ำท่วม
นอกจากนี้ มีการประชาสัมพันธ์ช่องทางการติดตามสถานการณ์ฝน การแจ้งเหตุเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมขังให้ประชาชนในกทม. รับทราบอย่างต่อเนื่อง โดยประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนน้ำท่วมผ่านทางเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ dds.bangkok.go.th แอปพลิเคชั่น กทม Conect หรือประชาชนสามารถแจ้งเหตุน้ำท่วมทางศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร 02-2485115 และสายด่วน 1555 ตลอด 24 ชั่วโมง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ค. 65)
Tags: กทม., ณรงค์ เรืองศรี, น้ำท่วม, ฤดูฝน