ตลาดหุ้นเอเชียปิดเช้าลบ จับตาประชุมแบงก์ชาติสหรัฐ

ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าปรับตัวลดลงเนื่องจากขาดปัจจัยชี้นำที่ชัดเจน โดยตลาดบางแห่งปิดทำการวันนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางหลายแห่ง รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีการแถลงนโยบายการเงินในวันพุธนี้ตามเวลาท้องถิ่น

  • ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 21,114.25 จุด เพิ่มขึ้น 24.86 จุด หรือ +0.12%
  • ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดทำการวันนี้ (3 พ.ค.) เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ส่วนตลาดหุ้นจีนปิดทำการเนื่องในวันแรงงาน

บรรดานักลงทุนในตลาดการเงินจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 3-4 พ.ค.นี้ ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อสกัดเงินเฟ้อของสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

อย่างไรก็ดี นักลงทุนไม่มั่นใจว่าการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ ซึ่งความกังวลในเรื่องดังกล่าวเป็นปัจจัยฉุดตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงเป็นเวลาหลายวัน ส่วนในการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ (2 พ.ค.) ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 500 จุดในระหว่างวัน ก่อนที่จะดีดตัวขึ้นปิดตลาดในแดนบวกเพียงเล็กน้อย เนื่องจากมีแรงช้อนซื้อช่วงท้ายตลาด

นายโรเจอร์ เฟอร์กูสัน อดีตรองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยในรายการ “Squawk Box” ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า “ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ส่วนตัวผมเองผมคิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสสูงมากที่จะเผชิญกับการถดถอย เนื่องจากปัญหาหลักคือราคาน้ำมัน และสิ่งที่เฟดควรจะควบคุมคือความต้องการใช้น้ำมันที่สูงจนเกินไป”

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจในภูมิภาคที่รายงานไปแล้วนั้น สำนักงานสถิติเกาหลีใต้เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.8% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ขยายตัวต่อเนื่องหลังเพิ่มขึ้น 4.1% ในเดือนมี.ค. และยังเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 13 ปีนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2551

ขณะที่ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดย ANZ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคออสเตรเลียร่วงลง 6.0% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดลงที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดทั่วรัฐฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา โดยดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลงหลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดการใช้จ่ายของผู้บริโภคพุ่งขึ้นแตะระดับ 5.1% ในไตรมาส 1/2565 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top