กรมส่งเสริมการเกษตร ติวเข้มเกษตรกรหวังเพิ่มโอกาสแมลงเศรษฐกิจสู่สินค้าเกษตรชีวภาพ

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงแมลงเศรษฐกิจประมาณ 69,176 ครัวเรือน เกษตรกรมีรายได้จากการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ อาทิ ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ชันโรง จิ้งหรีด และครั่ง ซึ่งสร้างประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม คิดเป็นมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาได้เน้นการส่งเสริมพัฒนา และรับรองระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรชีวภาพตลอดโซ่คุณค่า ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ ล่าสุด ได้นำผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีด ซึ่งเป็นแมลงกินได้ที่สำคัญ ไปจัดแสดงในงานนิทรรศการระดับโลก ได้แก่ งานมหกรรมพืชสวนโลก หรือ EXPO 2022 Floriade Almere ณ ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และงาน World Expo Dubai ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แล้ว

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า แมลงเศรษฐกิจได้เป็นสินค้าชนิดหนึ่งในแผนเกษตรชีวภาพ ตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่นับวันจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ด้วยเป็นสินค้าทางเลือกเพื่อสุขภาพ ถือเป็น Future Food ที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศต้องการ

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นท้าทาย คือ การสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร ในการผลิตสินค้าเกษตรชีวภาพที่มีโอกาสทางการตลาด เข้าสู่ระบบมาตรฐาน และการเชื่อมโยงข้อมูลด้านตลาด เพื่อใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจในการผลิต รวมถึงการนำผลงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ มาผสมผสานกับการดึงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ เพื่อประยุกต์ใช้ให้เกิดผลในเชิงพาณิชย์ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ชุมชน และผู้ประกอบการ

ดังนั้น เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ คือ ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร และการสนับสนุนเพื่อให้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน การเชื่อมโยงข้อมูลด้านตลาด รวมถึงการนำผลงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ มาผสมผสานกับการดึงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ เพื่อประยุกต์ใช้ให้เกิดผลในด้านการบริหารจัดการการผลิต

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า ในช่วงต้นทางการผลิต ต้องมีความรู้ ทันต่อเหตุการณ์ ทราบถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก พร้อมทั้งมีการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart farming การแปรรูป การสร้างช่องทางตลาด เกิดผลในเชิงพาณิชย์ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ชุมชน และผู้ประกอบการ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 65)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top