นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) คาดว่า เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐได้อีกใน 1-2 เดือนข้างหน้า จากความเป็นไปได้ที่เฟดพร้อมเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้นเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ครั้งละ 0.50% ไปอยู่ที่ระดับ 1.50% ประกอบกับทำมาตรการ QE หรือการลดงบดุลเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
ขณะที่ตลาดทุนกังวลความเสี่ยงที่สหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้าหลังมีสัญญาณ inverted yield curve หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว สะท้อนว่านักลงทุนห่วงเศรษฐกิจอาจโตช้าในอนาคต แต่ส่วนตัวมองว่ายังไม่น่าใช่สัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นเพียงปัญหาสภาพคล่องล้น และความกังวลปัญหาเงินเฟ้อที่กดดันเศรษฐกิจโตช้าและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
นายอมรเทพ ระบุว่า เงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง จะช่วยเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือไม่นั้น ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ระวังเงินบาทเป็นเงินเยนรายต่อไป เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลก จากความกังวลการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เร่งแรง หรือจากปัญหาราคาน้ำมันแพงที่ส่งผลให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด สะท้อนว่ารายจ่ายมากกว่ารายรับ ประกอบกับเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตร เนื่องจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐที่มากขึ้น ล้วนส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว
“คาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าช่วงไตรมาส 2 ไปอยู่ที่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่สิ่งที่ต้องกังวลไว้บ้าง นั่นคือ หากเงินบาทอ่อนค่าแรงและเร็วเกินไป เช่น จากระดับราว 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐช่วงปลายเดือนเมษายน ไปสู่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤษภาคม ผู้ส่งออกคงยากที่จะตั้งราคาหรือบริหารงบการเงินเพื่อดูแลต้นทุนการใช้จ่ายอื่นๆ แสดงว่าบาทอ่อนในภาพเช่นนี้ก็อาจไม่ใช่ผลดีเสมอไป โดยเฉพาะเงินบาทที่อ่อน จะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะน้ำมันสูงขึ้น จนอัตราเงินเฟ้อเร่งแรง” นายอมรเทพ กล่าว
พร้อมระบุว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากบาทอ่อนค่าแรง ในทางทฤษฎี เงินบาทอ่อนค่าจะช่วยการส่งออก การท่องเที่ยว เกิดการลงทุน การจ้างงาน แต่หากอ่อนค่ามากเกินไป จะมีผลให้การนำเข้าเพิ่มขึ้น เสมือนเงินที่รั่วไหลออกนอกประเทศมากขึ้น การบริโภคอาจไม่ได้เร่งขึ้น แม้มีรายได้จากกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากบาทอ่อน เพราะกำลังซื้อแผ่วจากรายได้ที่โตไม่ทันรายจ่าย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้านำเข้า เช่น น้ำมัน อาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี และเหล็ก
ส่วนกลุ่มผู้ลงทุนเพื่อส่งออกในอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นให้ผู้บริโภคในต่างประเทศได้ทั้งหมด กลุ่มที่ต้องอาศัยสัดส่วนการนำเข้าที่สูงเพื่อประกอบและส่งออก อาจไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้น เศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ จากเงินบาทอ่อนค่าแรงชั่วคราวในช่วงไตรมาส 2 นี้ แต่ก็ต้องบริหารต้นทุนด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้ดี
อย่างไรก็ดี เงินบาทน่าจะถึงจุดสูงที่สุดในช่วงไตรมาส 2 ก่อนจะปรับแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐได้ในช่วงครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นจากเศรษฐกิจไทยโตช้า ต้องอาศัยมาตรการดอกเบี้ยต่ำลากยาวมาสนับสนุน สวนทางกับฝั่งสหรัฐและประเทศในยุโรปที่เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้เงินดอลาร์สหรัฐแข็งค่าเทียบสกุลอื่น เงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ไทยมีความเสี่ยงขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงตามรายจ่ายค่าน้ำมันและขาดรายได้การท่องเที่ยว แม้คาดว่าเงินบาทจะไปแตะ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐช่วงกลางปี
แต่หากมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นกระทบเงินไหลออก หรือราคาน้ำมันเพิ่มสูงกว่าคาด มีโอกาสที่บาทจะอ่อนค่าไปถึงระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และน่าจะมีผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องปรับมุมมองว่าจะควบคุมการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนหรือจะปล่อยให้บาทอ่อนเพื่อช่วยผู้ส่งออก แต่ก็อาจช่วยได้ไม่มาก เพราะมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือสูง และขาดแคลนวัตถุดิบ เช่น ชิปเซมิคอนดักเตอร์ในการผลิต
นอกจากนี้ เงินบาทอ่อนค่าเร็วและแรงรอบนี้ อาจไม่ช่วยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีเช่นอดีต จากราคาสินค้านำเข้าที่สูงจะยิ่งกดดันการบริโภคฟื้นตัวช้า อีกทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวยังต่ำ ผู้ส่งออกที่ได้ประโยชน์จากบาทอ่อนมีไม่มาก ส่วนกลุ่มผู้นำเข้าเพื่อส่งออกจะเผชิญต้นทุนนำเข้าที่สูง แต่ไม่สามารถผลักภาระต้นทุนไปให้ผู้บริโภคได้
“ดังนั้นไตรมาส 2 นี้ ผู้ส่งออกอาจเตรียมบริหารอัตราแลกเปลี่ยนไว้ให้ดี ทั้งการทำ natural hedging หรือใช้รายได้จากการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐมาจ่ายการนำเข้า การฝากเงินในสกุลเงินตราต่างประเทศ ผู้นำเข้าเองน่าจะป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้บ้าง เงินบาทน่าจะอ่อนค่าแรงที่สุดถึงช่วงกลางปี ก่อนพลิกกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงครึ่งปีหลัง”
นายอมรเทพ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 เม.ย. 65)
Tags: ซีไอเอ็มบี ไทย, อมรเทพ จาวะลา, เงินบาท