นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า ในวันที่ 26 เม.ย.นี้ หัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้านจะมีการประชุมผ่านระบบซูมเพื่อกำหนดประเด็นการอภิปรายและติดตามความก้าวหน้า เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องเนื้อหาที่จะอภิปราย จากนั้นจะได้ข้อสรุปว่าจะอธิบายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือจะอภิปรายทั้งคณะ
ขณะเดียวกันได้จัดตั้งคณะทำงานหนึ่งชุดเพื่อพิจารณาประเด็นและเนื้อหาที่จะใช้ในการอภิปรายซึ่งมี นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านเป็นประธาน และคาดว่าพรรคฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจหลังจากคณะกรรมาธิการกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งได้เสนอรายงานต่อประธานรัฐสภาในวันที่ 24 พ.ค.65 จากนั้นไป 1 สัปดาห์รัฐสภาจะใช้เวลาในการพิจารณาบรรจุระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา
ทั้งนี้ประเมินว่าร่างกฎหมายงบประมาณจะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวันที่ 1-2 มิ.ย.65 ส่วนร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับรัฐสภาจะได้พิจารณาช่วงกลางเดือน มิ.ย.65 ซึ่งฝ่ายค้านคาดหวังจะให้ร่างกฏหมายทั้ง 2 ฉบับบังคับใช้ก่อนที่จะมีการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นช่วงปลายเดือน มิ.ย.หรือต้นเดือน ก.ค.จะได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ และไม่สามารถที่จะยืนยันได้ว่าจะมีการยุบสภาก่อนที่กฎหมายลูกจะจัดทำแล้วเสร็จหรือไม่ เนื่องจากอยู่ที่นายกรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินใจ และหากรัฐบาลสร้างทางตันทางการเมืองหรือเดดล็อกทางการเมืองจะทำให้ประเทศเกิดความวุ่นวาย หากยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งไม่ได้ก็จะเป็นปัญหา
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า คนการเมืองไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากจะเป็นปัญหาที่อาจนำไปสู่การล้มล้างประเด็นการยื่นตีความวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างน้อยต้องให้มีการจัดทำกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งแล้วเสร็จไปก่อนถึงจะมีการยุบสภา
หากสภาผู้แทนราษฎรเอาจริงเอาจังไม่ต้องการให้รัฐบาลบริหารประเทศต่อก็ไม่รับร่างกฎหมายงบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2566 รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ไม่ต้องพูดถึง ซึ่งเชื่อว่าเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะหากมีเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่รับร่างกฏหมายงบประมาณนั่นหมายความว่ามีการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวแล้วว่ารัฐบาลไปต่อไม่ได้
ก่อนจะสรุปทิ้งท้าย 3 ประเด็นใหญ่ที่จะชี้ชะตาอนาคตของรัฐบาล คือ 1.การพิจารณารับหลักการร่างกฏหมายงบประมาณปี 2566, 2.การอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และ 3.การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี
สำหรับการประสานเสียง ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะร่วมโหวตในทิศทางเดียวกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านนั้น นพ.ชลน่าน คาดหวังว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเป็นปัจจัยโน้มน้าวชักจูงให้ ส.ส.ราว 30 คนลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการประสานพรรคการเมืองใด แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องทำเพื่อบ้านเมืองก็ถือเป็นวิธีการที่ไม่ได้เสียหายอะไร ไม่ว่าจะพูดคุยกับพรรคเศรษฐกิจไทยหรือพรรคการเมืองใด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 65)
Tags: การเมือง, ชลน่าน ศรีแก้ว, พรรคการเมือง