นายรานิล ซัลกาโด หัวหน้าฝ่ายกิจการประเทศญี่ปุ่นของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า การทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วของเงินเยนอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยคาดว่าจะเป็นปัจจัยขัดขวางไม่ให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากการทรุดตัวของเงินเยนทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค
นายซัลกาโดกล่าวสัมภาษณ์กับสำนักข่าวเกียวโดว่า เงินเยนที่อ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 20 ปีเทียบดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สะท้อนถึงการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เดินหน้าใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษ (Ultra-low interest rates) ซึ่งแตกต่างจากธนาคารกลางในอีกหลายประเทศที่เริ่มคุมเข้มนโยบายการเงิน
อย่างไรก็ตาม นายซัลกาโดกล่าวว่า BOJ ควรดำเนินนโยบายการเงินในลักษณะดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% เนื่องจากเชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อจะลดลงเมื่อราคานำเข้าสินค้าชะลอตัวลง
ทั้งนี้ ค่าเงินเยนนอ่อนค่าลงเกือบ 15 เยนเมื่อเทียบดอลลาร์นับตั้งแต่เดือนมี.ค. และร่วงแตะสู่กรอบกลาง 129 เยนเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (20 เม.ย.) ซึ่งโดยปกติแล้วเงินเยนที่อ่อนค่าจะทำให้กลุ่มผู้ส่งออกชาวญี่ปุ่นมีกำไรมากขึ้นเมื่อมีการแปลงค่าเงิน แต่ขณะนี้การทรุดตัวลงของเงินเยนกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากทำให้ราคานำเข้าพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ พุ่งขึ้น โดยสินค้าเหล่านี้มีราคาสูงอยู่แล้วในขณะนี้ อันเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 65)
Tags: IMF, ญี่ปุ่น, รานิล ซัลกาโด, เงินเยน, เศรษฐกิจญี่ปุ่น