PJW-EA เซ็น MOU วิจัยพัฒนาพลาสติกใช้เป็นชิ้นส่วนผลิตแบตตารี่รุกธุรกิจ EV

นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ปัญจวัฒนาพลาสติก (PJW) เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยและพัฒนาเปลือกแบตเตอรี่ ระบบหล่อเย็นสำหรับแบตเตอรี่ และระบบหล่อเย็นสำหรับมอเตอร์ขับเคลื่อน ด้วยพลาสติกคุณภาพสูงที่มีคุณสมบัติพิเศษสามารถช่วยลดอุณหภูมิการทำงานของแบตเตอร์รี่ให้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม คือ 20-40 องศาเซลเซียส และทนปฏิกิริยาเคมีได้ดี เข้ามาทดแทนส่วนประกอบของรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ (Commercial Vehicle) ที่มาจากโลหะ เพื่อลดน้ำหนักของรถ สามารถเพิ่มระยะทางการวิ่งของรถ และลดจำนวนการชาร์จช่วยยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ขึ้น พร้อมทั้งยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิม

บริษัทคาดว่าจะสามารถผลิตแบบจำลอง (Prototype) ได้ภายในปี 65 ก่อนที่จะเริ่มลงทุนเพื่อผลิตเปลือกแบตเตอรี่ ระบบหล่อเย็นสำหรับแบตเตอรี่ และระบบหล่อเย็นสำหรับมอเตอร์ขับเคลื่อน ด้วยพลาสติกคุณภาพสูงสำหรับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในปี 66 โดยคาดว่าจะมียอดขายในปีแรกไม่ต่ำว่า 100 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านบาทภายในปี 69

“การร่วมมือกับ EA ในครั้งนี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพทางธุรกิจของ PJW สู่การบุกธุรกิจ EV อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆในการขยายตัวทางธุรกิจ รวมถึงยังเป็นการเปิดโอกาสในการหาผู้ร่วมทุนหรือพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาเพิ่มศักยภาพความแข็งแกร่ง และยังสามารถเพิ่มขีดการแข่งขันและยกระดับของบริษัทในการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกยานยนต์ที่มีนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐานระดับโลก สอดรับกับยุคการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV Car) พร้อมทั้งเชื่อว่าเทรนด์การใช้รถ EV ในประเทศไทย สามารถเพิ่มโอกาสการเติบโตให้กับธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ได้อีกมาก จากนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐที่สนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า”นายวิวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (Passenger Car) ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมีชิ้นส่วนพลาสติกที่บริษัทฯผลิตและจำหน่าย มีอยู่ทั้งหมด 3 ส่วน แบ่งเป็น 1.)อุปกรณ์ห้องเครื่องยนต์ สัดส่วน 10-20% 2.)อุปกรณ์ตกแต่งภายนอก สัดส่วน 40-50% และอุปกรณ์ตกแต่งภายใน สัดส่วน 30-40% หลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนสู่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้า (EV Car) จะส่งผลให้อุปกรณ์ในห้องเครื่องหายไปเกือบทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนหลัก70-90 % คือ อุปกรณ์ตกแต่งภายใน และ อุปกรณ์ตกแต่งภายนอก ยังคงมีอยู่ ซึ่ง “PJW” ได้รับผลกระทบไม่มากนัก จากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯได้มองหาการเติบโตเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนแปลงของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลสู่พลังงานไฟฟ้า(EV Car) โดยในปี 66 บริษัทได้เตรียมนำองค์ความรู้ (Know-how) ที่ได้จากการพัฒนาส่วนประกอบในรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ มาต่อยอดเพื่อพัฒนาและผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้า โดยเฉพาะเปลือกแบตเตอรี่ที่มาจากพลาสติกคุณภาพสูง สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้าที่สามารถวางแบตเตอรี่ได้เฉพาะใต้ท้องรถ และ มีการออกแบบจัดวางพื้นที่ในเชิงของวิศวกรรม ส่งผลให้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้ามีจำนวนการใช้โลหะต่อกิโลวัตต์มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ถึงเท่าตัว

นอกจากนี้ ยังมีแผนในการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนพลาสติกในระบบหล่อเย็นสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล รวมไปถึงชิ้นส่วนพลาสติกในระบบระบบหล่อเย็นสำหรับมอเตอร์ขับเคลื่อน เพื่อที่จะให้มีการทำงานในอุณหภูมิที่เหมาะสม และช่วยน้ำหนักของรถลง โดยตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้าถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่มาก

โดยมีการประมาณการว่าในปี 67 จะมีจำนวน 150,000-200,000 คัน และในปี 2568 จะมีจำนวน 250,000- 300,000 คัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆปี ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แบตเตอรี่และระบบหล่อเย็นจำนวนมาก หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และในอนาคตตลาดมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นเป็น 4,000-5,000 ล้านบาท ตามการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าที่ภาครัฐบาลมีนโยบายในการสนับสนุนให้มีการผลิตได้ครบ 1 ล้านคันภายในปี 73

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top