- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 3,037 คน (+3)
- รักษาหายแล้ว 2,897 คน (+9)
- ผู้ป่วยรักษาอยู่โรงพยาบาล 84 คน
- เสียชีวิตสะสม 56 คน (-)
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย จำนวนผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 3,037 ราย จำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วรวม 2,897 ราย หลังหายป่วยเพิ่มขึ้น 9 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 84 ราย ขณะที่ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 56 ราย
ผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย รายแรก เป็นชายไทย อายุ 72 ปี มีโรคประจำตัว เบาหวาน มะเร็งปอด ไปรักษาที่รพ.รัฐแห่งหนึ่งในกทม. มีประวัติไปตัดผมที่ร้านแถวประชาชื่น ต่อมาวันที่ 18 พ.ค. มีไข้ ไอมีเสมหะ จึงไปรับการรักษาที่รพ.เอกชน และย้ายมาที่รพ.รัฐเดิมที่รักษาตัวอยู่ในวันที่ 20 พ.ค.
รายที่ 2 เป็นชายชาวเยอรมัน อายุ 42 ปี ไม่มีโรคประจำตัวและไม่มีอาการ มีประวัติเดินทางไปเยี่ยมญาติที่ จ.ชัยภูมิ ตั้งแต่ 30 เม.ย.-16 พ.ค. โดยวันที่ 8 พ.ค.มีญาติ 1 คนมีอาการไข้ คอแห้ง แต่ไม่ได้ตรวจรักษา เดินทางไปห้างสรรพสินค้าในจ.ชัยภูมิ หลังจากกลับมาได้ไปตรวจสุขภาพ ก่อนเข้าทำงาน และตรวจพบเชื้อวันที่ 18 พ.ค.
ส่วนรายที่ 3 เป็นหญิงไทย อายุ 25 ปี ไปเรียนภาษาและกลับจากประเทศฟิลิปปินส์ เข้าพัก State Quarantine วันที่ 13 พ.ค. และ ตรวจพบเชื้อ วันที่ 19 พ.ค. โดยไม่มีอาการ
นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงจำนวนคนไทยตกค้างที่จะเดินทางกลับเข้าประเทศว่า วันที่ 21 พ.ค.นี้ จะมีนักศึกษา นักท่องเที่ยว และคนไทยตกค้างจากประเทศเวียดนาม เดินทางกลับมา 18 คน, ผู้ป่วย นักศึกษา และคนไทยตกค้าง เดินทางกลับจากประเทศจีน 87 คน, นักเรียน นักศึกษา คนทำงาน เดินทางกลับจากออสเตรเลีย 295 คน และนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน เดินทางกลับจากอินเดีย 215 คน
ส่วนวันที่ 22 พ.ค. จะมีคนไทยที่ตกค้างเดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา 100 คน, คนไทยตกค้าง กลับจากเกาหลีใต้ 80 คน, นักท่องเที่ยว และแรงงาน กลับจากกาตาร์ 216 คน และคนไทยตกค้าง เดินทางกลับจากตูนิเซีย 4 คน ซึ่งผู้ที่เดินทางกลับเข้ามาประเทศไทยทั้งหมดนี้ จะต้องเข้าไปสังเกตอาการที่สถานกักกันตัวของรัฐ (State Quarantine) ทุกคน
โฆษก ศบค. กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีทางเลือกใหม่สำหรับการกักตัวเพื่อสังเกตอาการว่าจะมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ โดยเป็นการนำเสนอจากโรงแรมที่จับมือร่วมกับ รพ.เอกชน ในการเปิดให้บริการเป็น Alternative State Quarantine โดยถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการเข้ารับการกักตัว ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เข้ารับบริการจะเป็นนักธุรกิจรายใหญ่ หรือเจ้าหน้าที่สถานทูต ซึ่งมีกำลังเพียงพอจะจ่ายค่าบริการในส่วนนี้ได้เอง
ดังนั้น ในอนาคตหากมีการผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้มีการเดินทางจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น ในขณะที่การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ยังจำเป็นต้องเข้มงวดอยู่นั้น ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของโรงแรมสามารถนำเสนอในการเป็นสถานกักตัวทางเลือกได้ โดยร่วมมือกับ รพ.ของรัฐหรือเอกชนที่จะมาให้บริการร่วมกัน
“เราได้ทดลองระบบนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ในเมื่อเขาจ่ายได้ เลยให้ รพ.เอกชนจับมือกับโรงแรม และให้กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปช่วยดูแลระบบ คุณจ่ายได้ จ่ายกันเอง พอครบ 14 วัน จะมีแพทย์ออกใบรับรองการตรวจให้ ก็สามารถกลับไปทำงานได้ พบว่ามีคนนิยมใช้มาก ไอเดียนี้จะได้พัฒนาต่อไป ถ้าหมด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ยังมีคนเดินทางเข้า-ออก ขณะที่โรคยังแพร่ระบาดอยู่ ภาครัฐคงอุ้มไม่ไหว ที่ต้องจ่ายเงินแทนคนจำนวนมากที่จะเข้าประเทศอีก”
โฆษก ศบค.กล่าว
ส่วนการลงทะเบียนของผู้ประกอบการห้างร้านผ่านแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 20 พ.ค.63 พบว่ามีห้างร้านหรือกิจการ/กิจกรรม ลงทะเบียนสะสมแล้ว 73,295 แห่ง มีประชาชนลงทะเบียนใช้งาน 6.33 ล้านคน ทำแบบประเมินร้านค้า 5.2 ล้านแห่ง
สำหรับการตรวจสอบกิจการ/กิจกรรม ที่ได้รับการผ่อนคลายมาตรการ ทั่วประเทศ ณ วันที่ 20 พ.ค.63 ทั้งหมด 21,697 แห่ง พบว่ามีร้านค้า/กิจการ/กิจกรรม ที่ปฏิบัติตามมาตรการพื้นฐาน 5 ข้อไม่ครบ จำนวน 31 แห่ง โดยส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิบัติตามในเรื่องการเว้นระยะห่าง รองลงมา คือความแออัดของผู้ใช้บริการ และไม่มีการทำความสะอาด-ฆ่าเชื้อ
นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงกรณีการแชร์ข้อความของหมอในต่างประเทศที่ออกมาเตือนว่าไม่ควรเข้าใกล้ พบปะ หรือรับประทานอาหารร่วมกับผู้ที่เคยติดไวรัสโควิด-19 แม้จะรักษาหายแล้ว เพราะอาจจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อได้อีกว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว ถือว่าเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันไวรัสโควิดได้ดีกว่าผู้ที่ยังไม่เคยเป็น ซึ่งได้มีการนำพลาสม่าจากผู้ที่หายดีแล้วมาช่วยรักษาผู้ป่วยในปัจจุบัน และผลการรักษาก็เป็นที่น่าพอใจ
“เขามีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งกว่าเรา สะอาดกว่าเรา ไปรังเกียจเขาได้อย่างไร เราต่างหากที่เป็นกลุ่มเสี่ยง จะเอาโรคไปติดเขาได้มากกว่า แต่เขาจะไม่เป็น เพราะมีภูมิคุ้มกันแล้ว ดังนั้นต้องเปลี่ยนระบบความคิดใหม่” นพ.ทวีศิลป์ระบุ
สำหรับแนวทางการผ่อนคลายมาตรการแก่กิจการร้านนวดนั้น โฆษก ศบค.ระบุว่า ร้านนวดยังเป็นอีกกิจการที่ต้องรอว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 3 หรือไม่ แต่ในระหว่าง 9 วันนี้ก่อนที่จะครบการผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 2 ก็แนะนำให้เจ้าของธุรกิจร้านนวดต่างๆ ไปคิดมาตรการในการดูแลและป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิดแก่ผู้ที่จะมาใช้บริการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ประชาชนที่จะมาใช้บริการ และนำเสนอให้ ศบค.เพื่อพิจารณาผ่อนคลายมาตรการให้ในระยะถัดไปได้
“อย่าปล่อยเวลา 9 วันนี้ให้ผ่านไปเฉยๆ สมาคม, ชมรม ต้องมาดูว่าท่านจะตรวจสอบกันเองได้อย่างไร ท่านต้องคิดมาตรการให้ละเอียดกว่าที่รัฐคิดไว้ 5 ข้อ และมีข้อเสนอมาบอกกับ ศบค.ว่ามั่นใจว่าถ้าเปิดกิจการนี้แล้ว จะไม่เกิดการแพร่กระจายเชื้อจากกิจการของท่านแน่นอน นี่เป็นการบ้านในช่วงเวลาที่เหลือที่ท่านต้องทำ” โฆษก ศบค.ระบุ
นพ.ทวีศิลป์ ยังย้ำเรื่องการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ว่า แม้ปัจจุบันจะพบว่ามีประชาชนเริ่มออกไปทำงานข้างนอกมากขึ้น การจราจรบนท้องถนนและระบบขนส่งสาธารณะเริ่มกลับมาแออัดนั้น แต่ ศบค.ยังยืนยันว่าต้องการให้การ Work from Home เป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการให้เห็นผลอย่างน้อย 50% ขึ้นไป รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการเหลื่อมเวลาการทำงาน เพราะไม่เช่นนั้นมาตรการลดความแออัดจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย
“การ Work from Home ยังมีความสำคัญที่สุด บวกกับการเหลื่อมเวลาทำงาน ซึ่งไม่ใช่แค่เวลาเดียว แต่ต้องมี 2-3 ช่วงเวลา ไม่เช่นนั้นมาตรการลดความแออัดจะไม่เกิดขึ้น ขอความร่วมมือภาครัฐและเอกชนอย่าเพิ่งยกเลิก นี่เป็นชีวิตวิถีใหม่ที่อาจจะต้องอยู่กับเราไปอีกยาว” โฆษก ศบค.กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ค. 63)
Tags: COVID-19, ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, ศบค., โควิด-19