นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท.มุ่งส่งเสริมและพัฒนายางพาราของประเทศให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ยางพารา สร้างกลไกรักษาเสถียรภาพราคายาง เน้นสร้างรากฐานการผลิตที่เข้มแข็ง พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับรายได้คุณภาพชีวิต และส่งเสริมการค้าให้มีความเป็นธรรมต่อเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ซึ่งหนึ่งในความสำเร็จตามภารกิจนี้คือการขับเคลื่อนตลาดกลางยางพารา
ปัจจุบันมีการจัดตั้งแล้วทั้งหมด 8 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย โดยตลาดกลางยางพาราแห่งใหม่จัดตั้งขึ้นเขตภาคเหนือ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางประมาณ 1.25ล้านไร่ มีปริมาณผลผลิตยางแห้งประมาณ 200,000 ตัน เฉลี่ยผลผลิต 170 กก./ไร่/ปี โดยจังหวัดเชียรายเป็นจังหวัดที่มีปริมาณผลผลิตยางพาราสูงที่สุดในภาคเหนือ เฉลี่ย 58,000 ตัน/ปี มีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้รับการยกระดับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ มีความพร้อมทางด้านโลจิสติกส์ ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่นักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศได้ ถือเป็นโอกาสและจุดแข็งดีในการพัฒนาตลาดยางพาราไทย กยท.จึงจัดตั้งตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงรายขึ้น เพื่อดำเนินกิจกรรมพัฒนาการซื้อขาย ยางก้อนถ้วยหรือยางเครปที่ได้มาตรฐาน เพื่อเป็นทางเลือกในการซื้อขายผลผลิตยาง สร้างความเป็นธรรมด้านราคา มีการกำหนดมาตรฐานและคุณภาพยางที่ส่งมอบอย่างชัดเจน เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่ซื้อขายยางผ่านตลาดกลางของ กยท.
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงรายมีสมาชิกผู้ซื้อยาง 22 ราย สถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร 49 ราย และมีตลาดเครือข่ายกว่า 30 ตลาด ล่าสุดมีปริมาณยางซื้อขายผ่านตลาดแล้ว (ต.ค.64-ม.ค.65) ประมาณ 1.6 หมื่นตัน คิดเป็นมูลซื้อขายกว่า 445 ล้านบาท ดำเนินการซื้อขายยางพาราผ่านระบบประมูลยางอิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาโดยตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย ช่วยให้ผู้ซื้อผู้ขายยางสามารถเข้าประมูลยางผ่านระบบได้สะดวกขึ้น โดยราคาประมูลเป็นไปตามกลไกตลาด มีการกำหนดราคากลางเปิดตลาดร่วมกันโดย กยท. และสถาบันเกษตรกรผู้ขายยาง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโดยผู้ซื้อจะได้รับยางพาราที่มีคุณภาพเหมาะสมกับราคาอย่างแน่นอน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 65)
Tags: กยท., ณกรณ์ ตรรกวิรพัท, ยางพารา, ราคายาง, เกษตรกร