จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายคณาจารย์ นิสิต นักศึกษา วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมประเทศไทย ประกอบด้วย คณาจารย์ นิสิต และนักศึกษาในสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทยจำนวน 14 หน่วยงาน จัดงานเสวนารับฟังวิสัยทัศน์ของว่าที่ผู้ว่า กทม.กับการบริหารจัดการขยะ น้ำ อากาศ และเมืองยั่งยืน
โดยเครือข่ายฯ ได้นำข้อเสนอบางส่วนจากแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ต่อว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ได้แก่ การแก้ปัญหาขาดแคลนอาหาร, การปนเปื้อนสารพิษ, การบังคับใช้กฎหมายกับรถที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์, การให้บริการทางสาธารณสุขที่ทั่วถึง, การให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม, การพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพ, การสร้างความปลอดภัยในการใช้ทางข้าม, การให้บริการน้ำดื่มสะอาด, การปรับเปลี่ยนใช้รถ EV ภายใน 4 ปี เช่น รถทางราชการ รถโดยสาร, การแก้ปัญหาชุมชนแออัด, การเพิ่มพื้นที่สีเขียว, การแก้ปัญหาความสูญเสียด้านอาหาร, การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นต้น
ชัชชาติ ชู 9 นโยบาย เมืองน่าอยู่
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครอิสระ กล่าวว่า ตนเองจัดเตรียมนโยบายในเรื่องนี้ไว้ 9 ด้าน คือ ปลอดภัยดี เช่น เรื่องการจราจร, สุขภาพดี เช่น การนำเทเลเมดมาใช้งาน, สิ่งแวดล้อมดี ให้คนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวภายใน 800 เมตร, เรียนดี ปรับคุณภาพการศึกษา, บริหารจัดการดี, เดินทางดี, โครงสร้างดี, เศรษฐกิจดี และ สร้างสรรค์ดี แต่ละพื้นที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง
สำหรับการแก้ปัญหา PM2.5 ต้องดำเนินการทั้งบังคับใช้กฎหมายกับต้นตอในการสร้างปัญหา เช่น การก่อสร้าง และรถยนต์, มาตรการปรับปรุงเพื่อบรรเทาปัญหา, การติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดเพื่อเตือนภัย และมีมาตรการป้องกัน เช่น ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น กทม.ต้องทำงานเชิงรุก มีการตื่นตัวตลอดเวลา และมีการประสานงานกับหน่วยงานอื่น
“ถ้าจะทำงาน กทม.เรื่องอากาศเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องดำเนินการทันที และคงไปบอกว่าจะทำอะไรเป็นสิ่งแรกคงไม่ได้ ทุกอย่างต้องเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน”
นายชัชชาติ กล่าว
สกลธี เน้นบริหารจัดการ-บังคับใช้กฎหมาย
นายสกลธี ภัททิยกุล ว่าที่ผู้สมัครในนามอิสระ กล่าวว่า ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานได้อย่างยั่งยืน โดยมุ่งส่งเสริมให้คนใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้นทดแทนรถส่วนตัว ด้วยการจัดรถไฟฟ้า เรือไฟฟ้า เชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้า เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศ แก้ไขการลักลอบเผาวัสดุทางการเกษตร ควบคุมการก่อสร้าง การห้ามรถบางประเภทเข้าพื้นที่ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อลด PM 2.5, การปรับการบริหารจัดการขยะที่จะช่วยสร้างรายได้
หากมีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ จะดำเนินการ 2 อย่างทันที คือ 1.การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น การกำหนดเวลารถบรรทุกวิ่ง,การกำจัดซากรถ, การห้ามรถจักรยานยนต์วิ่งบนทางเท้า และ 2.การบริหารงบประมาณ โดยสามารถหารายได้เพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้บริหารงานนอกเหนือจากงบประมาณที่ได้รับ
วิโรจน์ ชูบังคับใช้กฎหมาย ผลักดันพ.ร.บ.อากาศสะอาด
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ต้องทำให้ทุกคนในกรุงเทพฯ มีความเสมอภาค ด้วยการคืนสภาพเมืองที่เป็นธรรม เพราะทุกวันนี้คนที่ไม่ได้ใช้รถ บ้านไม่ติดแอร์ กล่าวคือไม่ได้สร้างปัญหามลพิษกลับต้องแบกรับภาระจากปัญหามลพิษ ดังนั้นต้องบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่สร้างมลพิษ, ปัญหาน้ำดื่มสะอาดยังมีไม่เพียงพอ เพราะบางพื้นที่ยังไม่มีบริการน้ำประปาเลย เพราะเป็นบริการที่ผูกขาดโดยการประปานครหลวง, การเก็บค่าจัดเก็บขยะที่ไม่เป็นธรรม, การปล่อยปละละเลยให้มีการปลูกกล้วยหรือมะนาวในเมืองเพื่อเลี่ยงภาษีที่ดิน, การบังคับใช้กฎหมายห้ามใช้รถที่สร้างมลพิษอย่างจริงจัง, การกำหนดมาตรฐานการปล่อยสารพิษให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล, การผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด
สำหรับปัญหา PM2.5 ต้องจัดการกับผู้ที่สร้างปัญหา เช่น โรงงานกำจัดขยะอย่างเด็ดขาด, ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสภาพรถยนต์, ร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษในการดูแลการปล่อยสารพิษต่างๆ
สุชัชวีร์ เน้นมองภาพใหญ่ ชูเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนเมือง
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเมืองต้องภาพใหญ่ จะมองภาพเล็กไม่ได้ สำหรับนโยบายพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ครอบคลุม 4 ด้าน คือ ขจัดความยากจน ขจัดความหิวโหย ยกระดับคุณภาพชีวิต และศึกษาที่มีคุณภาพ โดยจะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อเปลี่ยนคุณภาพชีวิต เปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้น
ปัญหามลพิษทางอากาศนั้นมีมากกว่าเรื่อง PM2.5 ดังนั้นควรจะมีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศประมาณ 2 พันจุดทั่วกรุงเทพฯ โดยร่วมมือกับสถานศึกษาในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว เพื่อเตือนภัยให้ประชาชนป้องกันและดูแลตัวเอง รวมถึงให้ผู้เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบเข้ามาเร่งแก้ไขปัญหา, การควบคุมการก่อสร้างไม่ให้สร้างมลพิษ, การจัดเก็บภาษีฝุ่นจากผู้ที่สร้างปัญหา และคืนภาษีเพื่อจูงใจให้กับผู้ที่มีมาตรการควบคุม, การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้รถจักรยาน
เรื่องเร่งด่วนคือการกำหนดเป้าหมาย ไม่ว่าจะมีนโยบายดีอย่างไร หากมีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ ตนเองจะนำเรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศมาเป็น KPI ในการวัดผลการทำงานของผู้อำนวยการเขต ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที ทั้งการติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศ และการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่สร้างปัญหา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 65)
Tags: การเมือง, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดีเบต, เลือกตั้ง, เลือกตั้งผู้ว่ากทม