IPOInsight: JDF ตีมูลค่าหุ้นฟู้ดเทคฯ IPO 2.60 บ.ท้าโอกาสใหญ่ต่างแดน

บมจ.เจดีฟู้ด (JDF) ระดมทุนรองรับแผนงานใหญ่ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ พุ่งเป้าหมายหลัก CLMV พร้อมรุกขยายงานด้าน R&D เพิ่มโอกาสทางธุรกิจในสายฟู้ดเทคฯ

JDF กำหนดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 7 เม.ย.65 หลังจากเปิดให้จองซื้อหุ้น IPO ในช่วงวันที่ 29-31 มี.ค.65 โดยเคาะราคาเสนอขายหุ้นละ 2.60 บาทต่อหุ้น คิดเป็น P/E ที่ประมาณ 34.37 เท่า จำนวนเสนอขานหุ้น IPO ทั้งสิ้น 150 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ มีมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท

ทั้งนี้ รายงานผลประกอบการปี 64 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 585.70 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 43.89 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 0.12 บาท เมื่อเทียบกับปี 63 อยู่ที่ 592.17 ล้านบาท ที่มีกำไรสุทธิ 53.85 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 0.17 บาท

JDF เคาะไอพีโอ 2.60 บ. P/E ต่ำกว่ากลุ่มฯ

นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน JDF เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ราคาหุ้น IPO ที่ราคา 2.60 บาท ถือเป็นราคาที่มีความเหมาะสม มาจากสมมติฐานค่า P/E ที่ประมาณ 34 เท่า ซึ่งถ้าหากพิจารณาหุ้นหมวดอาหารในตลาด SET จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 44 เท่า นับว่าหุ้นของ JDF มีค่า P/E ที่ต่ำกว่าหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน และต่ำกว่าหุ้นที่มีธุรกิจใกล้เคียงกันช่วง 3 เดือนย้อนหลังอย่างหุ้น NRF ที่มี P/E อยู่ที่ 86 เท่าและ RBF ที่มี P/E อยู่ที่ 88 เท่า

สำหรับหุ้นของ JDF เป็นหนึ่งในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง สะท้อนจากธุรกิจอาหารที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี แม้ว่าหุ้นในหมวดอาหารจะได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองหลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ประเมินว่าในปี 65 สถานการณ์จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลเชิงบวกต่อรายได้และกำไร

ทั้งนี้ JDF วางเป้ารายได้ปี 65 เติบโตราว 25% หรือกลับไปเทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19

“จุดแข็งของ JDF คือเป็นหุ้น Food Technology มีทีมวิจัยที่คิดและพัฒนาสูตรเฉพาะร่วมกับลูกค้า ดังนั้นลูกค้าจะมีคำสั่งซื้อในระยะยาว เพื่อคงรสชาติของสินค้าไม่ให้เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจ Foodchain เพื่อควบคุมรสชาติของอาหารให้เหมือนกันในทุกสาขาอีกด้วย”

นายเอกจักร กล่าว

เปิดใจแม่ทัพ JDF ผู้อยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมอาหาร

นางสาวรัตนา เอี้ยประเสริฐศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JDF เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า จุดเริ่มต้นของ JDF เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว เพราะเห็นว่าเครื่องปรุงรสในสมัยนั้นส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงก่อตั้งโรงงานแห่งแรกขึ้นในปี 42 ที่จ.สมุทรสงคราม เพื่อประกอบธุรกิจผงปรุงรสสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และในปี 52 ได้เริ่มขยายมาที่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้ามะพร้าวอบกรอบเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่นิยมสินค้าสุขภาพ

จนมาถึงช่วงปี 63 จึงได้ตัดสินใจสร้างโรงงานแห่งใหม่บนเนื้อที่กว่า 33 ไร่ ใน ต.บางโทรัด จ.สมุทรสาคร โดยมีการออกแบบระบบและนำเครื่องจักรที่ทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิต พร้อมควบคุมโรงงานให้อยู่ในมาตรฐาน ทำให้ในปัจจุบันมีคู่ค้าประมาณ 300 ราย และมีสูตรอาหารที่ผลิตให้กับลูกค้ามากกว่า 2,000 รายการ

ด้านสินค้าของบริษัทประกอบไปด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส ซึ่งจำหน่ายไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ธุรกิจ Food Chain 2) ผลิตภัณฑ์มะพร้าวอบกรอบส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิต (OEM) เน้นจำหน่ายในตลาดต่างประเทศเป็นหลัก

และ 3) ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบริษัท ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 4 แบรนด์ ประกอบด้วย แบรนด์ “กินดี” ผลิตเครื่องปรุงรสที่เป็นรสชาติอาหารไทย, แบรนด์ “Crispconut” ผลิตและจำหน่ายสินค้ามะพร้าวอบกรอบ, แบรนด์ “OK” คิดค้นสูตรและผลิตผงปรุงรส และไส้เบเกอรี่ และแบรนด์ใหม่ล่าสุดอย่าง “Good Eats” ตอบโจทย์ทางเลือกคนรักสุขภาพ

สัดส่วนลูกค้าในปัจจุบันแบ่งเป็นกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ 7% เช่น สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ ไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น ส่วนที่เหลืออีกอีก 93% เป็นลูกค้าในประเทศ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 77% กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร 11% และกลุ่มลูกค้าทั่วไปอีก 5%

โตบนเค้กก้อนใหญ่อุตสาหกรรมอาหารมูลค่าหลายหมื่นล้าน

นางสาวรัตนา กล่าวว่า บริษัทยังคงมองเห็นแนวโน้มการเติบโตในตลาดอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มตลาดเครื่องปรุงรสจะมีการเติบโตขึ้นเฉลี่ย 4.16% ต่อปี และคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 6.1 หมื่นล้านบาทภายในปี 68 ยกตัวอย่างตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แม้จะเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อปีก่อนก็ยังสามารถเติบโตได้ 12% และอีก 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดถึง 2.5 หมื่นล้านบาท

ส่วนตลาดขนมขบเคี้ยว หรือ ธุรกิจ Food Chain ก็ยังคงเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลูกค้าแต่ละเจ้าก็จะไม่หยุดนิ่ง เดินหน้าออกผลิตภัณฑ์รสชาติใหม่ ๆ ทุกปี และ JDF ก็จะไปซัพพอร์ตในการพัฒนาสูตรอาหารให้กับลูกค้า ดังนั้นถ้าหากลูกค้าโต เราก็จะโตไปด้วย

“หัวใจสำคัญของ JDF ในการดำเนินธุรกิจ คือทีมงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งทางบริษัทมีประสบการณ์มามากกว่า 20 ปีในวงการผงปรุงรสเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และบริษัทยังมีบริการ One Stop Service ทำงานร่วมกับลูกค้าทุกขั้นตอนตั้งแต่การพูดคุยถึงความต้องการ การวางแผนงาน การวิจัยและพัฒนา เพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการมากขึ้น”

พร้อมกันนั้น บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาและวิจัยนวัตกรรมทางอาหารในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ สินค้าผักและผลไม้อบแห้งรองรับตลาดขนมขบเคี้ยวสาย Healthy Food ที่ใช้เทคโนโลยีการอบ 100% และ อาหารโปรตีนจากพืช (Plant base) รวมถึงต่อยอดกลุ่มสินค้าอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่เป็นแบรนด์ของบริษัท เป็นต้น

เข้าตลาดหุ้นตีตลาด CLMV

เมื่อปี 63 บริษัทย้ายโรงงานครั้งล่าสุดได้เพิ่มกำลังการผลิตที่เพียงพอ รวดเร็ว และทันสมัย ทั้ง 3 ไลน์การผลิต ไม่ว่าจะเป็นไลน์เครื่องปรุงรสที่ปัจจุบันสามารถผลิตได้ 9,000 ตัน/ปี, ไลน์มะพร้าวอบกรอบที่ผลิตได้ 630 ตัน/ปี และไลน์ของเหลวที่ใช้เป็นซอสหรือไส้ขนมก็สามารถผลิตได้มากถึง 2,200 ตัน/ปี ส่วนเรื่องการควบคุมต้นทุนวัตถุดิบ ด้วยความที่ JDF ทำธุรกิจมานาน ก็มีการพูดคุยกับคู่ค้าอย่างต่อเนื่องว่าวัตถุดิบตัวไหนมีแนวโน้มจะขึ้นราคา ก็ทำให้เราสามารถควบคุมและจัดการราคาสินค้าได้

จากแผนการระดมทุนและการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อขยายช่องทางไปยังตลาดต่างประเทศอย่าง CLMV ตามแผนระยะยาว 3-5 ปีของบริษัท และยังวางแผนจัดตั้งห้องแล็บหรือสำนักงานขายในต่างประเทศ รวมไปถึงจะใช้เงินเพื่อลงทุนในการวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้จะมีการจัดซื้อเครื่องจักรใหม่เข้ามา เพื่อรองรับการขยายฐานการผลิตและยอดขายที่เพิ่มมากขึ้น

“สำหรับตลาดในประเทศเราก็จะขยายตลาดไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ซอส ไส้กรอก เนื้อแปรรูป อาหารทะเล และแป้งทอดกรอบ ซึ่งมีตลาดค่อนข้างใหญ่และโตขึ้นทุกปี มันสะท้อนว่าเรื่องของ Food Technology ไม่มีทางหยุด และยังมีประเด็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อาหารการกินก็ควรจะเปลี่ยนไปในรูปแบบที่เหมาะกับกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ต้องมีรสชาติอร่อยด้วย ซึ่งเราก็จะนำเงินไปวิจัยและพัฒนาตรงนี้”

นางสาวรัตนา กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top