พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอส.ตร.) หรือ Police Cyber Taskforce (PCT) และ พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง ผกก.(สอบสวน) บก.สส.ภ.2 ร่วมกันแถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์รายใหญ่ใจกลางเมืองพระสีหนุจำนวน 28 ราย หลังสืบทราบว่าหลอกเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ และพนักงานบริษัท DHL, Fed EX ทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมาก
รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า ปฏิบัติการครั้งนี้สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.สั่งการให้ขยายผลจับกุมเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทุกราย โดยทีมสืบสวนจนทราบแหล่งกบดานของเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์รายนี้ ซึ่งใช้อาคารในเมืองพระสีหนุเป็นฐานปฏิบัติการ จึงสั่งการให้ชุดปฏิบัติการฯ เดินทางไปยังประเทศกัมพูชา เพื่อประสานขอความร่วมมือกับตำรวจประเทศกัมพูชา
ในวันที่ 20 มี.ค.65 เวลาประมาณ 14.00 น. พล.ต.อ.Sar Theth รอง ผบ.ตร.แห่งกัมพูชา ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.Wan Wera ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดพระสีหนุ สนธิกำลังกับตำรวจฝ่ายไทย นำกำลังเข้าตรวจค้นออฟฟิศแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 2 แห่งในจังหวัดพระสีหนุ
จุดที่ 1 เป็นโรงงานร้างไม่มีเลขที่ ถนน Santepheap จ.พระสีหนุ ซึ่งจุดนี้จะมีแผนประทุษกรรมในการหลอกลวงโดยการโทรศัพท์ไปหาเหยื่อแล้วอ้างว่ามีพัสดุจากบริษัทขนส่ง DHL หรือ FedEX และถูกด่านของกรมศุลกากรอายัดไว้และมีสิ่งของผิดกฏหมาย จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ ติดต่อไปเพื่อทำการตรวจสอบบัญชีหรือตรวจสอบการเงินเพื่อหลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินให้ โดยใช้รูปโปรไฟล์ในแอปพลิเคชั่นเป็น พล.ต.อ.สุวัฒน์ มาแอบอ้างทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ
โดยผลการตรวจค้นพบจับกุมผู้ต้องหา 28 คน เป็นบุคคลที่ถูกออกหมายจับไว้แล้วทั้งหมด คือ นายซิน ฮัง เต หรือนายอาเต๋อ อายุ 28 ปี สัญชาติจีน (ไต้หวัน) หัวหน้าใหญ่, นายจาง เจียน เทียน หรือนายอาหู อายุ 41 ปี สัญชาติจีน (ไต้หวัน) หัวหน้าใหญ่ และ นายพรศักดิ์ รีพล อายุ 30 ปี สัญชาติไทย พร้อมพวกคนไทยอีก 25 คน ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ร่วมกันเป็นอั้งยี่ร่วมกันเป็นซ่องโจร มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ร่วมกันฟอกเงิน นอกจากนี้ยังตรวจค้นพบพยานหลักฐานสำคัญ คือ โทรศัพท์มือถือยี่ห้อไอโฟน จำนวน 30 เครื่อง, วิทยุสื่อสาร จำนวน 8 เครื่อง, คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค จำนวน 4 เครื่อง, สคลิปเตรียมบทพูดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่จาก DHL และ FedEx, เอกสารหมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเอกสารปลอม, เอกสารหมายจับศาลอาญา ซึ่งเป็นเอกสารปลอม, เอกสารหมายเรียกของสำนักคดีการเงินการธนาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นเอกสารปลอม
จุดที่ 2 เป็นอาคาร Diwei Entertainment City ถนน 2 Thnou เมืองพระสีหนุ ซึ่งเปิดเป็นบ่อนคาสิโนบังหน้า ลักลอบทำแก๊งคอลเซ็นเตอร์บนชั้น 5 ของตึก ซึ่งจุดนี้จะมีแผนประทุษกรรมโดยการหลอกลวงให้หลงรักในแอปพลิเคชั่น Tinder จากนั้นชักชวนลงทุนเทรดเงินดิจิทัล บางรายที่เทรดเป็นอยู่แล้วก็จะถูกชักจูงให้เทรดในโหมด Futures Trade ซึ่งมีความเสี่ยงสูง และหากผู้ถูกหลอกสามารถเทรดจนได้กำไรในพอร์ตก็ไม่สามารถถอนเงินออกได้อยู่ดี และขั้นตอนสุดท้ายคือจะถูกหลอกให้เสียเงินภาษีเพื่อถอนเงินในพอร์ตออกมา แต่เมื่อผู้ถูกหลอกโอนเงินเข้าไปแล้วก็ไม่สามารถถอนเงินออกจากพอร์ตได้เลย นอกจากนี้ยังใช้วิธีการหลอกลวงให้ร่วมลงทุนกับการขายสินค้าแอปพลิเคชั่น Lazada ให้ผลตอบแทนสูง
โดยผลการตรวจค้นพบคนไทย 33 คนขณะกำลังทำงานคุยกับลูกค้า ซึ่งจะต้องทำการคัดแยกต่อไปว่าใครเป็นเหยื่อ ใครเป็นผู้ต้องหา เบื้องต้นสอบถามมี 5 คนที่สมัครใจอยากกลับประเทศไทย ซึ่งได้ส่งตัวไปยังสถานกงสุลไทยในกัมพูชาเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังตรวจค้นพบพยานหลักฐานสำคัญ คือ เครื่องคอมพิวเตอร์แบบ All in one จำนวน 68 เครื่อง รวมทั้ง 2 จุดพบเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวน 61 คน
โดยหลังตรวจค้นจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจประเทศกัมพูชา ได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดดำเนินคดีตามกฎหมายในประเทศกัมพูชาก่อน และเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการตามกฎหมายของประเทศกัมพูชาแล้ว จะดำเนินการส่งตัวผู้ต้องหาให้ประเทศไทย
รอง ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า จากการสอบสวนเบื้องต้นทำให้ทราบข้อมูลว่าคนไทยที่เข้าไปทำงานกับแก๊งดังกล่าวจะได้เงินเดือนเดือนละ 30,000 บาท หากหลอกลวงเงินคนไทยได้ จะได้ค่าคอมมิชชั่น 3.5% ของเงินที่หลอกลวงมาได้
รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความกังวลปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ปัจจุบันระบาดหนักและมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หลากหลายรูปแบบ จึงสั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งปราบปรามอย่างจริงจัง และหาแนวทางเสริมภูมิความรู้ให้กับประชาชน นับตั้งแต่เปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.65 จนถึงปัจจุบันพบว่ามีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์ 4,649 ราย
อันดับ 1 คือ คดีหลอกลวงด้านการเงิน 3,737 เรื่อง แบ่งเป็น คอลเซ็นเตอร์ 460 เรื่อง, ปลอมโปรไฟล์คนหน้าตาดีหลอกให้ลงทุน (Hybrid Scam) 443 เรื่อง, ปลอมโปรไฟล์คนหน้าตาดีหลอกให้หลงรัก (Roman Scam) 70 เรื่อง, หลอกให้กู้เงิน 642 เรื่อง, แชร์ลูกโซ่ 251 เรื่อง, อื่นๆ 992 เรื่อง
อันดับ 2 คือ หลอกจำหน่ายสินค้าออนไลน์ 724 เรื่อง แบ่งเป็น หลอกขายไม่ได้รับสินค้า 659 เรื่อง หลอกขายสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ 105 เรื่อง, อื่นๆ 44 เรื่อง
อันดับ 3 คือเฟคนิวส์ (Fake News) 87 เรื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 65)
Tags: ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์, มิจฉาชีพ, อย่าโอน, อาชญากรรมทางไซเบอร์, แก๊งคอลเซ็นเตอร์