รัฐบาลผ่านงบกว่า 1.43 หมื่นลบ. เร่งสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนป้องกันโรคอุบัติใหม่

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่ประเทศไทยได้เผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากว่า 2 ปี รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการมีแผนสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันประชาชนจากโรคอุบัติใหม่ผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานดังกล่าว

ทั้งนี้ ร่างแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ จะเป็นแผนยุทธศาสตร์ ฉบับที่ 2 ที่เข้ามารับช่วงต่อจากฉบับที่1 ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2565 ซึ่งจะเป็นกรอบในการขับเคลื่อนผลักดันการพัฒนาสู่ความมั่นคงด้านวัคซีนในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายและแผนพัฒนาระดับชาติ เช่น กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนยุทธศาสตร์ สธ. 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579 (ร่าง) ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) และแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 12

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ตามร่างแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ ฉบับที่ 2 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 11 แผนงาน 67 โครงการ ระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี วงเงินงบประมาณรวม 14,326.54 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การพัฒนาระบบและบริหารจัดการงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน จำนวน 15 โครงการ อาทิ โครงการสำรองวัคซีนรองรับการระบาด โครงการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมัน (MR) ในกลุ่มเสี่ยง โครงการพัฒนา Big Data ฐานข้อมูลกลางการให้บริการวัคซีนและระบบ PHR ข้อมูลการรับบริการวัคซีนรายบุคคล โครงการพัฒนาระบบข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีน งบประมาณ 2,889.76 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การส่งเสริม สนับสนุนการวิจัยพัฒนา และอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนอย่างครบวงจร จำนวน 26 โครงการ อาทิ โครงการการพัฒนา adenoviral vector platform สำหรับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้นแบบ โครงการการพัฒนาเทคโนโลยีฐานสำหรับพัฒนาต้นแบบวัคซีนจาก Viral vectorเพื่อตอบสนองต่อโรคอุบัติใหม่ โครงการการพัฒนาต้นแบบวัคซีนเด็งกี่ (วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก (Dengue Vaccine)] เพื่อทดสอบในมนุษย์ การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อโรต้า โครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับสัตว์ โครงการการจัดตั้งโรงงานโดยใช้เทคโนโลยีการใช้เซลล์เพาะเลี้ยงในระดับต้นแบบและระดับอุตสาหกรรม โครงการส่งเสริมสนับสนุนการจัดซื้อวัคซีนที่ผลิตในประเทศ งบประมาณ 9,911.38 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาศักยภาพบุคลากรรองรับภารกิจความมั่นคงด้านวัคซีน จำนวน 23 โครงการ อาทิ โครงการการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรด้านวัคซีนอย่างครบวงจร โครงการสร้างความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยวัคซีนทางคลินิก โครงการการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนผ่านเครือข่ายความร่วมมือ งบประมาณ 315.89 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : เสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรภาคีเครือข่ายด้านวัคซีนของประเทศ จำนวน 3 โครงการ อาทิ โครงการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนโดยความร่วมมือกับเครือข่ายด้านวัคซีน โครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการวิจัย เพื่อพัฒนาวัคซีน การรักษา การวินิจฉัย สำหรับโรคอุบัติใหม่และตอบโต้อาวุธชีวภาพ เพื่อความมั่นคงของประเทศ งบประมาณ 1,209.5 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จะทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ ฉบับที่ 2 เป็นรายปีพร้อมจัดทำข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่อความสำเร็จของการดำเนินงานที่ไม่บรรลุผลตามเป้าหมาย รวมทั้งสรุปผลการดำเนินงานภายหลังจากสิ้นสุดแผนระยะ 5 ปี และประเมินผลกระทบในภาพรวม และรายงานผลให้ ครม. ทราบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มี.ค. 65)

Tags: , , , , ,