นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ไทยมีมูลค่าตลาดกว่า 3 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.9% ของ GDP ทั้งประเทศ มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% ต่อปี ในแต่ละปีมีธุรกิจรายใหม่ๆ ที่สนใจเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์กว่า 20,000 ราย ซึ่งนับเป็นกลุ่มธุรกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตมากขึ้น ธุรกิจแฟรนไชส์ จึงเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในการเป็นเจ้าของธุรกิจ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์มากว่า 10 ปี และมีธุรกิจแฟรนไชส์ที่พัฒนาผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพตั้งแต่ปี 52 จนถึงปัจจุบัน รวม 477 ราย โดยกรมฯ ได้มีการพัฒนาและทบทวนเกณฑ์มาตรฐานฯ ทุกๆ 2 ปี เพื่อให้เกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการและกระบวนการตรวจประเมิน มีมาตรฐานเทียบเคียงมาตรฐานสากล
สำหรับเกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ในปีนี้ กรมฯ มุ่งเน้นการผลักดันให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีการปรับตัวและฟื้นตัวหลังวิกฤตการณ์ต่างๆ รวมทั้งวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SME และธุรกิจแฟรนไชส์ จึงเป็น “โจทย์สำคัญ” สำหรับผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่ต้องเรียนรู้ และประยุกต์วิธีการในการทำธุรกิจให้สอดคล้องและตอบโจทย์กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี หากธุรกิจแฟรนไชส์มีการบริหารจัดการที่ดี จะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น เพื่อยกระดับธุรกิจของคนไทยโดยใช้แฟรนไชส์เป็นกลยุทธ์ ขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพในการลงทุน กรมฯ จึงจัดกิจกรรมยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ อาทิ นายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด, นายชัยรัตน์ ภัทรพิทักษ์ GM-Franchise TPC & CJ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), นางวลัยลักษณ์ วณิชชาภิวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาตันหยง จำกัด (แบรนด์ ชาตันหยง) และนายสุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัด (แบรนด์ ชิปป๊อบ) มาร่วมเสวนาถ่ายทอดความรู้และแบ่งปันประสบการณ์
นอกจากนี้ ยังมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานคุณภาพธุรกิจแฟรนไชส์ ร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ และแนวทางการประเมินผลให้ผู้ประกอบธุรกิจกว่า 200 ราย ที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ทราบถึงรายละเอียดต่างๆ ก่อนเข้ารับการประเมินทั้ง 7 ด้าน คือ การนำองค์กร (leadership), กลยุทธ์ (Strategy), ลูกค้าและแฟรนไชส์ซี (Customer), การวัด การวิเคราะห์และการจัดการความรู้ (Measurement, Analysis and Knowledge Management), บุคลากร (Workforce), การปฏิบัติงาน (Operations) และผลลัพธ์ (Result) ทั้งนี้ ในปี 65 กรมฯ คาดว่าจะมีธุรกิจที่ผ่านเข้าตรวจประเมินจำนวนไม่น้อยกว่า 35 ราย
นายทศพล กล่าวว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความเข้มแข็ง และพร้อมที่จะขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์โมเดล) เนื่องจากเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าเป็นโมเดลการตลาดที่มีประสิทธิภาพ และสามารถช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถพัฒนาพร้อมขยายกิจการของตนเองได้อย่างรวดเร็ว ลดข้อจำกัดด้านเงินทุน ทำให้เกิดผู้ประกอบธุรกิจหน้าใหม่ สามารถบริหารจัดการธุรกิจของตนเองได้อย่างง่ายดาย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มี.ค. 65)
Tags: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, การค้า, ทศพล ทังสุบุตร, เศรษฐกิจไทย, แฟรนไชส์, แฟรนไชส์โมเดล